02 เมษายน 2560

กว่าจะจบแพทย์ ตอนที่ 1

ชีวิตการเป็นแพทย์ วันที่สุขที่สุด คือเมื่อทราบว่าสอบติด หลังจากนั้นล่ะ...

ท่านคงเคยได้เห็นหนังสือ ทำนอง ไม่ยากถ้าอยากติดหมอ เคล็ดลับการสอบติดแพทย์ .. แล้ววิธีจะเรียนให้จบออกมาล่ะ ทำอย่างไร ผมลองจินตนาการสมัยที่ผมเรียนอยู่ โยงกับเทคโนโลยีปัจจุบัน สมัยนี้ จะทำอย่างไร เผื่อใครอยากเข้าเรียน หรือเข้าแล้ว
การเรียนแพทย์ในช่วงสามปีแรกเป็นช่วงที่เรียกว่า ปรีคลินิก คือก่อนที่จะขึ้นตรวจคนไข้ ส่วนมากก็จะเป็นเนื้อหาเชิงลึกที่เป็นพื้นฐาน รายละเอียดมากมายมหาศาล วิชาบรรยาย วิชาห้องปฏิบัติการ

1. ท่องจำ หลายๆคนบอกว่าถ้าเราเข้าใจก็ไม่ต้องท่องจำ แต่สำหรับการเรียนแพทย์ หลายๆอย่างก็ต้องเริ่มจากการท่องจำที่เป็นพื้นฐานด้วย อาทิเช่น ชื่อกล้ามเนื้อ ตำแหน่งที่เกาะ หลอดเลือดที่มาเลี้ยงอวัยวะ ชื่อเอนไซม์ที่ใช้ควบคุมการสังเคราะห์ไขมัน ลำดับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในไตวายจากเบาหวาน ทั้งชื่ออังกฤษ ชื่อละติน ผมยังยืนบันว่าบางอย่างต้องท่องนะครับ

2. การทำความเข้าใจ การแพทย์จะมีกลไกต่างๆมากมาย ที่เขียนและเรียนในรูปแผนภาพ แผนภูมิ บางครั้งโรคๆเดียวอธิบายทั้งหมดได้จากแค่แผนภาพแผ่นเดียว ดังนั้นการมีทักษะการเชื่อมโยงรายละเอียดกับแผนภาพ และอธิบายแผนภาพ วาดแผนภาพต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ อ่านแล้วเทียบแล้วเขียน เขียนแล้วอธิบาย กลับไปกลับมาจนคล่องแคล่ว

3. ทักษะการอ่าน แน่นอนตำราทางการแพทย์หนากว่าสมุดโทรศัพท์ ในทุกๆวิชา ต้องฝึกการอ่านทั้งไทยและอังกฤษ ภาษาอังกฤษในตำราภาพจะไม่ยากนะครับ แต่ว่าจะมีศัพท์เฉพาะมากเท่านั้นเอง การอ่านและจับใจความต้องชำนาญมาก ไม่งั้นอ่านไปสามสิบหน้า ไม่ได้อะไรเลย จำอะไร ไม่ได้เลย ปัจจุบันหนังสือยุคใหม่จะมี essentials หรือ สรุปท้ายเล่ม ให้ด้วยสะดวกดี แต่อย่างไรเสีย ต้องอ่านเก่ง อ่านเป็น และอ่านทน

4. การสื่อสาร จะทำอย่างไร ถ้าเรารู้ทุกอย่างแต่เขียนอธิบายออกมาไม่รู้เรื่อง...สอบตกสิครับ หลายๆวิชาเป็นข้อสอบอัตนัย หรือ บทความเลย ถ้าเราเขียนไม่ถูก จับต้นชนปลายไม่ได้ น้ำท่วมทุ่ง ไม่จบนะครับ นอกจากอ่านดี เข้าใจได้ ต้องอธิบายออกมาให้เข้าใจได้ ลำดับการคิด การเขียน ให้รู้เรื่อง ฝึกพูด ฝึกเขียน กับเพื่อน กับตัวเอง ก่อนไปลองในข้อสอบ การจดเล็กเชอร์จึงเป็นวิธีฝึกที่ดีอันหนึ่ง

5. ความเชื่อมโยง เราไม่ได้ท่อง อ่าน ดูวิดีโอเท่านั้น เรามีวิชาปฏิบัติการหรือทำแล็บ เพื่อให้เห็นของจริงๆด้วย อาทิเช่น เรียนกายวิภาคในห้องและอ่านมาแล้วก็จะมีชั่วโมงชำแหละ ให้มาดูของจริง ดูกล้องจุลทรรศน์จริงๆ ในวิชาเภสัชวิทยาก็จะมีการทดลองให้วัดการขับยาทางปัสสาวะจริงๆ เพื่อให้เข้าใจ วิชาจุลชีววิทยาต้องเก็บเสมหะมาย้อมเชื้อดูซิว่าที่เรียนมา เห็นของจริงอย่างไร

ดังนั้น ต้องมีการเตรียมตัวก่อนเรียนเพื่อเชื่อมโยงสิ่งที่จะได้เรียน กับ พื้นฐานที่เรารู้มา
ปัจจุบันนอกจากตำรามาตรฐานที่ต้องอ่านแล้วยังมีสื่อต่างๆที่ช่วยให้เข้าใจง่าย หลายวันก่อนเปิดยูทูป ดูอนิเมชั่นเรื่องกลไกภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดูทีเดียวเข้าใจเลย หรือเพจวิชาการบางเพจที่อธิบายเข้าใจง่ายๆ เช่น 1412 cardiology

แต่อย่างไรเสีย ตำราคือมาตรฐานที่ต้องอ่าน ต้องรู้ โน้ตย่อ ทบทวน ต้องทำ... เรียนจบในแต่ละวันหรือสองวัน ต้องเอามาย่อย เอามาเชื่อมโยง อย่าปล่อยเลยผ่าน มันจะต่อของเก่ากับของใหม่ไม่ติด
ควรมีเพื่อนๆช่วยกันเรียน บางครั้งฟังมาอย่างดี อ่านมาอย่างดี เราอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ได้ การมีคนช่วยตรวจช่วยฟัง หรือบางทีไอเดียการคิดของเขาก็ดีกว่าเรา การจะไปตรวจคนอื่นหรือบรรยายให้คนอื่นฟังได้ แสดงว่าตัวเราต้องรู้พอตัวเชียว

ตอนแรกจบไปแล้ว ...เอาไว้ว่างๆจะมาเล่าต่อไป คิดๆคร่าวๆน่าจะมีมากกว่า 5 ตอน จะเพิ่มวิธีคิด วิธีเรียน ...ขอบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ใช่เกียรตินิยม ผมไม่ใช่เทพ ผมต้องขยันมากกว่าคนอื่นหลายเท่า เพราะเราไม่เก่ง แต่ว่าไม่เก่งก็สามารถเรียนจบและประสบความสำเร็จได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม