20 เมษายน 2560

หัวใจล้มเหลว 2

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ... ต่อจากตอนที่แล้ว

ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวต้องมีการรักษาด้วยยาแน่นอน และห้ามขาดยา ไม่ควรปรับยาเองด้วย วันนี้เราก็จะมารู้จักยาและการรักษาแบบอื่น หลายๆครั้งคนไข้จะบอกว่า ไม่มียาโรคหัวใจเลย มีแต่ยาลดความดัน ยาขับปัสสาวะ จริงๆแล้วเราก็ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวนั่นแหละครับ

ก่อนจะรักษา ก็จะมีการแบ่งกลุ่มเพื่อรักษาแบบต่างๆ ง่ายๆออกเป็นสองกลุ่ม (จริงๆมีแบ่งหลายแบบนะครับ) คือหัวใจล้มเหลวแบบที่แรงบีบยังดีอยู่ (heart failure with preserved ejection fraction) อย่างเช่น หัวใจล้มเหลวจากไทรอยด์เป็นพิษ พวกนี้แรงบีบดี หัวใจล้มเหลวจากมีโลหะธาตุเหล็กไปเกาะ พวกนี้บีบตัวดีแต่คลายตัวไม่ดี
ส่วนอีกแบบพบมากกว่าคือ หัวใจล้มเหลวแบบที่แรงบีบไม่ดี (heart failure with reduced ejection fraction < 40%) อย่างเช่นกล้ามเนื้อหัวใจตาย อันนี้ปั๊มออกไม่ดีคลายตัวก็ไม่ดี โรคหัวใจเรื้อรังจากการดื่มเหล้า การรักษาโรคหัวใจกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์ที่ชัดเจนมากกว่ากลุ่มแรกนะครับ กลุ่มแรกนั้นหน้าที่การทำงานยังไม่เสียมาก แต่กลุ่มหลัง การรักษาจะลดอัตราการเสียชีวิต อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ชัดเจน

ยาที่ใช้ในการรักษาคือยาที่ไปรักษาสมดุลของฮอร์โมนและกระแสประสาทที่ออกมากระตุ้นหัวใจ ไม่ให้มากเกิน และไม่ให้หัวใจบิดเบี้ยวผิดรูปมากเกิน

ยาลดความดันกลุ่ม RAS blockade กลุ่มที่ชื่อลงท้ายด้วย -อีปริ้ว และ -ซาทาน (ACEI,ARB) ใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์ไปลดการทำงานของฮอร์โมนครับ เพราะฮอร์โมนตัวนี้หลั่งออกมาให้หัวใจทำงานมากขึ้น ถ้าปล่อยไว้นานๆ หัวใจจะผิดรูป เริ่มใช้ในขนาดต่ำๆและค่อยๆปรับยาครับ สังเกตอาการวูบ (จากความดันโลหิตต่ำ) และอาการไอจากยาครับ

ยาลดความดันกลุ่มต้านเบต้า (beta blocker) ลงท้ายด้วย -olol ใช้เพื่อไปลดกระแสประสาทที่มากระตุ้นหัวใจให้บีบแรงขึ้นเร็วขึ้น ขืนปล่อยให้กระแสประสาทกระตุ้นแบบนั้นตลอด หัวใจจะทนไม่ไหวครับ เราให้ยาเพื่อให้ชีพจรช้าลง .. ข้อควรระวังที่สำคัญคือ สมรรถภาพทางเพศลดลง และ อาจทำให้หัวใจเต้นช้ามากๆได้

ยาขับปัสสาวะกลุ่ม หยุดฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน คือ spironolactone และ eplerenone เพื่อต้านการดูดกลับเกลือที่ไต มีที่ใช้ในกลุ่มหัวใจล้มเหลวที่เป็นมาก ระวังระดับเกลือแร่โปตัสเซียมในเลือดสูง และ นมโต

ยาขับปัสสาวะ อันนี้เห็นทีจะใช้ตรงตามตัวตามชื่อ คือขับปัสสาวะที่เป็นน้ำส่วนเกินในหลอดเลือดออกจากร่างกาย เพื่อลดปริมาณน้ำเลือดที่จะไปโหลดหัวใจ (preload) ใช้เพื่อรักษาอาการครับ ไม่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหัวใจวายให้อัตราการเสียชีวิตลดลง

ยากลุ่มใหม่ ARNI รายละเอียดไปหาอ่านเพิ่มจาก PARADIGM-HF นะครับ บอกว่าใช้ในหัวใจวายที่การบีบตัวลดลง ทำให้โรคไม่แย่ลง การใช้ชีวิตดีขึ้น เนื่องจากยาราคาแพงมากในขณะนี้ จึงแนะนำเป็นตัวเลือก (จริงๆแล้วประสิทธิภาพและผลการศึกษามันดีนะครับ) คือ sacubitril/valsartan

ยาอื่นๆที่อาจทำให้โรคหัวใจดีขึ้นด้วย เช่นยาเบาหวาน empaglifiozin, liraglutide ก็อาจให้เป็นตัวเลือกในการรักษาเบาหวานหากมีภาวะหัวใจวายร่วมด้วย นอกเหนือจากนี้ในรายที่ใช้ยาเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีข้อห้ามในการใช้ยา อาจมีตัวเลือกการใส่อุปกรณ์เพื่อช่วยให้หัวใจทำงานดีขึ้น ทั้งแบบไปกระตุ้นให้ทำงานสอดประสานกัน (เพราะหัวใจผิดรูปไป การบีบตัวจึงไม่สอดคล้องกัน) ในการใส่เครื่อง CRT หรือใส่อุปกรณ์ไปช่วยให้เลือดไปออกจากหัวใจได้ดีขึ้น ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายด้วยแรงดันสูงขึ้น เช่น ventricular assisted device หรือท้ายสุดคือการเปลี่ยนถ่ายหัวใจ

ความหวังในอนาคตของเครื่องหัวใจเทียมมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยก็มีการศึกษาค้นคว้าพัฒนาเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate 3 ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

การศึกษาพัฒนายังไม่หยุดยั้งแค่นี้ คงสามารถติดตามเรื่องโรคหัวใจได้ที่ สมาคมแพทย์โรคหัวใจทั้งแฟนเพจและไลน์ของสมาคมครับ Thai Heart

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม