03 เมษายน 2560

กว่าจะจบแพทย์ ตอนที่ 2

ทำอย่างไรจึงจะจบแพทย์ ตอนที่สอง

เอาล่ะ..มาต่อตอนต่อไป ก่อนหน้านี้ผมกล่าวถึงวิธีเรียนในชั้นปรีคลินิกไปแล้ว ชีวิตส่วนมากอยู่กับตำรา ห้องเรียน หนังสือ เอกสาร อินเตอร์เน็ต ห้องแล็บ เรียกว่า 60-80 % ของชีวิตครับ เพราะมันเยอะมาก เรียนในห้องแค่สรุปแนวคิดใจความ รายละเอียดต้องอ่านเองอ่านเพิ่มแน่ๆครับ ยิ่งใคร..เก็ท..ช้าอย่างแอดมิน ต้องอ่านหลายรอบหรือหลายเล่ม

ยกตัวอย่างตัวเองนะครับ ตอนที่เรียนเรื่องการสังเคราะห์สารบิลิรูบิน สารเหลืองในน้ำดี ผมไม่รู้เรื่องเลยครับ ขนาดว่าตั้งใจเรียนมากๆแล้วนะ กลับมาอ่านตำราเรื่องนี้ สามเล่ม ค่อยๆวาดรูป เขียนอีกสองรอบ จึงเข้าใจ และเข้าใจแจ่มแจ้งมาจนทุกวันนี้
ต้องทำตัวเองให้อ่านหนังสือให้ได้ครับ ชีวิตเมื่อเข้ารั้วมหาวิทยาลัย มันอิสระครับ ไม่มีใครมาบังคับ ไม่มีใครมาจ้ำจี้จ้ำไช ยิ่งเด็กบ้านนอกอย่างผม มาอยู่หอที่มหาลัย โห..ฟรีครับ จะกินจะนอน ทำได้สารพัด ยิ่งยุคนี้การคมนาคมสื่อสาร ไวติดปีก ไปโน่นนี่สะดวก โอกาสเที่ยวมากกว่าอ่าน

การเรียนแพทย์คือสิ่งที่คุณต้องสละเวลาตรงนี้ชัดเจนมากครับ จริงอยู่เที่ยวได้ ทำกิจกรรมได้ แต่ว่าถ้าเทียบกับเพื่อนๆสาขาอื่น เวลาตรงนี้จะน้อยลงชัดเจนมาก ไม่ได้เที่ยว ไม่ได้ส่าย ไม่ได้เมา อาจจะมีสักกลุ่มที่เขาเที่ยวมาก เฮฮาแล้วก็เรียนดี ได้คะแนนดี กลุ่มนั้นคือจีเนียสครับ จับเขาไปเรียนอะไรก็ได้ไม่ใช่แค่เรียนแพทย์ และจริงๆเขาก็อ่านหนังสือหนักนะ เพียงแต่เขาทำได้เร็วมากเท่านั้นเอง
แหล่งความรู้ที่ต้องใช้ต้องเป็น

1. ห้องเรียน อันนี้จำเป็นมากนะครับ อย่าคิดว่าอ่านเองได้อย่างเด็ดขาด ควรเข้าเรียนเสมอ ตั้งใจด้วย หลายๆครั้งก็เพลีย อ่านหนังสือดึก หลับ แต่น้องๆเชื่อลุงนะ เล็คเชอร์อาจารย์สอนครั้งเดียว ฟุตบอลโลกมีสี่ปีครั้ง แต่บรรยายวิชานี้มีรอบเดียว ยกเว้นจะยอมซ้ำชั้นมาเรียนใหม่ปีหน้า ทักษะการฟัง การสรุป การบันทึก สำคัญมาก

2. ตำรา ซื้อเอง ยืมเพื่อน ยืมรุ่นพี่ ห้องสมุด ปัจจุบันมี อีบุ๊คทั้งแท้และเถื่อน วิธีอ่านในทางปรีคลินิก ถ้าตะลุยอ่านตั้งแต่ต้นจนจบรับรองไม่ทันแน่นอน วิธีที่ควรใช้คือกำหนดหัวเรื่องแล้วอ่านตามหัวเรื่องนั้น ตอบคำถามตัวเองให้เข้าใจ ค่อยๆแกะสะสมไปทีละเรื่องทีละตอน เช่นมีเอกสารการสอนสี่แผ่น นั่นก็คือหัวเรื่องหัวใจ เราก็จับสี่แผ่นนั่นขยายความจากตำราต่างๆให้เข้าใจชัดเจน ใครจะสรุปง่ายๆได้จะดีมาก และเป็นที่รักของเพื่อนๆครับ

3. ยุคนี้ต้องมี ipad tablet จำเป็นนะครับ ต่อสามสี่จีก็ว่ากันไป ฝึกหาความรู้ที่เชื่อถือได้ให้เป็น เร็ว สะดวก มีรูปชัด บางทีเป็นวิดีโอเคลื่อนไหวได้ ไม่ต้องราคาแพง แค่ช่วยเราเรียนได้ก็พอ หรือจะเป็นแล็ปท็อปสักเครื่องก็พอ ใช้แค่ทำเอกสาร ทำงานนำเสนอ เก็บข้อมูลวิจัย ...โปรแกรมออฟฟิศก็ครบ อ่านหนังสือ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ใช้ยาวถึงปีหกได้เลย

เมื่อเรียนแต่ละวิชาจบในแต่ละวัน หรือเหนื่อยหน่อยก็อย่าให้เกินสามวัน เพราะเนื้อหาอันใหม่มันจะพอกหางน้องมาเรื่อยๆ ให้รีบอ่านย่อยที่เรียน อ่านเพิ่มในตำรา และถ้าจะดีจดบันทึกใจความสำคัญ แรกๆอาจช้า แต่ให้อดทนทำไปเรื่อยๆ มันจะเร็วขึ้นๆ และง่ายขึ้น จะขยับระดับเป็นจีเนียส มากขึ้น ...อย่าลืมพรแสวงและการฝึกฝนสำคัญมาก

เราจะได้เรียนทัน ทางคณะจะจัดตารางให้พอดีอยู่แล้ว ข้อดีคือเราไม่ต้องวางแผนการเรียนเหมือนเพื่อนคณะอื่น ทางฝ่ายการศึกษาคิดให้ดีแล้ว ขอเพียงเราทำตามให้ทันก็พอ
ตรงนี้ถ้ามีกลุ่มเพื่อนที่รู้ใจ ก็จะช่วยได้มากและไม่เบื่อด้วย รวมทั้งชีวิตส่วนตัวก็จะสนุกสนาน มีเพื่อนกินข้าว เล่นกีฬา ไม่น่าเบื่อ เผลอ.ๆๆ..ขายออกด้วยนะ

แบ่งปันความรู้ ทรัพยากร ช่วยกัน เป็นวิชาการใช้ชีวิตด้วย สิ่งที่ได้นอกห้องจะหล่อหลอมให้เป็น..คน..มากกว่าเครื่องอ่านหนังสือ และอุปกรณ์ทำข้อสอบ
ถ้าทำได้แบบนี้อย่างสม่ำเสมอ เวลาสอบจะไม่หนักหนา ทบทวนได้เร็ว เพราะเราก็จะมีเวลาทบทวนเท่ากับเพื่อนๆทุกคน แต่เราพร้อมแล้ว

การฝึกทักษะการเขียนเป็นสิ่งสำคัญนะครับ ฝึกไว้เลย เขียนใจความสำคัญเวลาย่อ เพราะเวลาสอบก็เขียนแบบนี้ สมัยแอดมินเรียนกฎหมายตอบสอบแพ่ง...ตอบอะไรก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยฝึก ตกครับ... ไปถามรุ่นพี่ มสธ.เขาบอกว่า เราไม่รู้แล้วยังคิดว่ารู้ ตอบไปตามความเข้าใจของเราซึ่งมันไม่เป็นสากล ไม่เป็นตามหลัก เขียนมากแค่ไหน ก็ได้ศูนย์ ...อ๋อ เข้าใจแล้ว มันต้องมีการฝึกเขียน

หลังเลิกเรียนก็เป็นการจัดสรรเวลาของเราครับ จะเล่นกีฬา จะพักผ่อน จะดรียน จะอ่าน เราต้องหัด .."คุม" ตัวเองให้อยู่ อย่าเห็นว่าคนนั้นก็เที่ยว คนนี้ก็ตีแบด เขาจัดเวลาของเขาครับ เราก็ต้องจัดเวลาของเรา ในโรงเรียนแพทย์ ผมบอกเลย มันอ่านหนังสือเป็นกองๆทุกคนแหละครับ ไม่อย่างนั้นก็รอดยากเช่นกัน

ปีแรกในเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สองปีต่อมาในเรื่องพื้นฐานร่างกายมนุษย์ทั้งที่ปกติ และผิดปกติ เรื่องยา เรื่องเชื้อโรค ก็จะใช้การเรียนลักษณะนี้ตลอดครับ มีการทดสอบความรู้บ่อยมาก ไม่ให้เราเฉื่อยชา
การหาความรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือวิดีโอน่าเชื่อถือในยุคนี้ดีมากเลยครับ มีกลไกการทำงานทุกอย่างให้เข้าใจง่ายๆได้ดีมากๆ สมัยผนนั้น หมดสมุดเป็นตั้งเลย เดี๋ยวนี้ดู 15 นาทีเข้าใจหมด น่าจะช่วยลดเวลาได้มากขึ้นและเรียนอย่างมีความสุขมากขึ้นนะครับ

ทักษะที่ต้องเพิ่มจาก สุจิปุลิ และ อิทธิบาทสี่ คือ การสืบค้นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ออนไลน์ครับ

คร่าวๆกับสามปีของปรีคลินิก ตอนหน้าเราจะเริ่มใส่เสื้อกาวน์ ขึ้นชั้นคลินิกกันแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม