04 เมษายน 2560

กว่าจะจบแพทย์ ตอนที่ 3

ทำอย่างไรจึงจะจบแพทย์ ตอนที่สาม

เรามากันครึ่งทางแล้วนะครับ อย่าคิดว่าทุกคนจะจบมาถึงครึ่งทาง หลายๆคนก็ซ้ำชั้นหลายๆคนก็ออก หลายๆคนก็ประสบปัญหาซึมเศร้า ซึ่งส่วนมากคือปรับตัวไม่ได้มากกว่าไม่เก่งครับ ทางคณะฯ จะมีกลุ่มงานคอยดูแลนะครับ เราไม่ปล่อยให้คุณเดินเดียวดาย หลังจากผ่านการเรียนพื้นฐานวิชาแพทย์มาจนครบ ต่อมาก็ถึงเวลาภาคปฏิบัติ

การเรียนชั้นคลินิก ผมขอแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ ชั้นปีที่สี่และห้า เป็นนักเรียนชั้นคลินิก เอาวิชาที่เรียนมาทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ในกลุ่มงานต่างๆ ส่วนนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่หก หรือที่เรียกว่านักเรียนแพทย์เวชปฏิบัตินั้น คือการปฏิบัติเหมือนจริง เหมือนเป็นแพทย์จริงๆ ก่อนจะจบออกไปรับผิดชอบชีวิตเพื่อนมนุษย์
ลักษณะวิชาเรียนจะแตกต่างกันออกไป คราวนี้จะเป็นวิชาที่จะต้องมาใช้กับคนไข้เแล้ว เรียกว่าเป็นการประยุกต์นะครับ ยกตัวอย่างเช่น ในชั้นมัธยมหรือวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เราเรียนว่ามีหัวใจสี่ห้อง เลือดแดงเลือดดำ พอมาเรียนวิชาแพทย์ เราก็ได้รู้กายวิภาคเชิงลึกว่าแต่ละห้องมีอะไร อยู่ตรงไหน ทำงานอย่างไร มีอะไรควบคุม ถ้าบกพร่องไปจะเกิดอย่างไร อาการจะเป็นแบบใด ตรวจร่างกายจะเจออะไร
แต่การเรียนทางคลินิกจะคิดกลับกัน คือ ถ้าคนไข้มีอาการแบบนี้ ตรวจร่างกายแบบนี้ เราจะอธิบายจากโครงสร้างและการทำงานว่าส่วนใดผิดปกติ ผิดปกตินั้นเป็นอะไรได้บ้าง มีหลักฐานใดสนับสนุนหรือแย้งค้าน และถ้ามีความผิดปกติตรงนี้จะแก้ไขอย่างไร

การเรียนทางคลินิกมีสาขาวิชามากมาย เช่น อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ นรีเวชวิทยาและสูติศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ วิสัญญีวิทยา นิติเวชศาสตร์ จึงต้องแบ่งส่วนกันเรียน ...เพื่อที่จะไปรวมกันตอนปีหกไงครับ เรียกว่าเวลาเราขึ้นปฏิบัติงานกลุ่มงานใดเราก็จะพบโรคทางสาขานั้น เช่น เราขึ้นปฏิบัติงานศัลยศาสตร์ เราก็จะพบโรคลำไส้อุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ แต่พอเวลาเราอยู่ปีหก เราก็จะพบอาการปวดท้อง ที่เราต้องแยกว่าเป็นภาวะทาวศัลยกรรม ทางสูตินรีเวช หรือทางอายุรกรรม ที่เราได้เคยผ่านมาในชั้นปีที่สี่และห้า

บางคนบอกว่าสบายขึ้น เพราะไม่ต้องอ่านและเรียนหนักอีก แต่จริงๆมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะมันมีเรื่องของการฝึกปฏิบัติ ระเบียบวินัย จริยธรรม ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น มาเกี่ยวข้องเพราะตอนนี้เราเรียนกับ.."คนไข้".. ครูตัวจริงแล้วนะครับ จะมานั่งๆนอนๆเรียนๆหลับๆไม่ได้
รูปแบบการเรียนจะแบ่งกลุ่มเวียนกันปฏิบัติงานตามวิชาต่างๆ อย่างละสองถึงสามเดือน จนครบสองปี วิชาที่ต้องใช้มากและพบบ่อยเป็นพื้นฐานก็ต้องผ่านการเรียนการฝึกทั้งสองชั้นปี คือ วิชาอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ส่วนวิชาที่แตกย่อยและลงลึกมากขึ้น เนื้อหาจะน้อยกว่า เวลาที่ใช้ในการฝึกจะน้อยกว่า เพราะในชีวิตในการเป็นแพทย์อาจไม่ได้พบมาก หรือต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมากๆในการรักษา ดังเช่น จักษุวิทยา หูคอจมูก วิสัญญีวิทยา ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ นิติเวชศาสตร์

แน่นอนรูปแบบการเรียนจะเป็นการศึกษาด้วยตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ชั่วโมงบรรยายจะลดลง ในช่วงกลางวันเราก็ต้องขึ้นปฏิบัติงานจริง ในสาขาวิชานั้นๆ การราวด์วอร์ดตอนเช้า ซึ่งต้องมาก่อนพี่ๆ การทำงานบนวอร์ด ไม่ว่าจะเก็บปัสสาวะส่งตรวจ เจาะตรวจหลอดเลือดแดง เข้าช่วยห้องผ่าตัด เมื่อมีคนไข้รับใหม่ก็ต้องมาตรวจกับรุ่นพี่และวางแผนการรักษาร่วมกับพี่ๆและอาจารย์ ต้องออกตรวจผู้ป่วยนอก หัดใส่เฝือก ชันสูตรศพ

นักเรียนแพทย์ชั้นคลินิกจะได้รับมอบหมายให้ ..ดูแลคนไข้...นั่นคือต้องไปศึกษารอบด้านเกี่ยวกับคนไข้คนนี้ ยกตัวอย่าง รับผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน ก็ต้องไปอ่านเรื่องการตั้งครรภ์ ที่เวลากี่เดือนจะเป็นอย่างไร ตรวจอะไร มาตรวจจริงเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจากตำราเพราะอะไร อธิบายได้ว่าอย่างไร และพอเป็นเบาหวานจะส่งผลต่อแม่และเด็กไหม จะรักษาอย่างไร คลอดวิธีไหน....และอื่นๆอีกมากมาย จากตำราต่างๆ ทบทวนที่เคยเรียน
เราก็จะได้อ่านตรงนี้ ทบทวน แกะปัญหาทีละเปลาะ ค้นคว้าเพิ่มเติมจากความรู้พื้นฐานที่แต่ละสาขาวิชาบรรยายให้ฟัง ...

***แต่ !!! ไม่ใช่แค่อ่านนะครับ ต้องเขียนเป็นรายงานส่งคุณครูทุกครั้ง และต้องไปนั่งอภิปรายหรือเรียกว่า สอบปากเปล่าก็คงได้ ว่าเราคิดอย่างไร คุณครูก็จะถาม สอน ให้แง่คิด การเขียนรายงานและการรายงานนั้น คือต้องสรุปความรู้ทั้งหมดออกมาให้ได้ ดังเช่นวิธีการเรียนที่เคยแนะนำไปตอนเรียนชั้นปรีคลินิกนั่นเอง ***

อย่าคิดว่าจบแค่นั้น เราต้องไปตรวจคนไข้ของเราด้วย จนกว่าจะออกจากรพ. หรือเราจะต้องย้ายไปสาขาอื่น รายงานผลการตรวจให้รุ่นพี่ และอาจารย์ประจำวอร์ดฟัง ตอนนี้พี่และอาจารย์ก็จะสอน ถ้าเราเตรียมตัวมาไม่ดีก็จะถูกดุ หรือเรียกว่า ..ยำ..เพราะเรากำลังจะดูแลคน เราจะประมาทไม่ได้ อะไรผิดพลาด ก็จะโดน โดนแน่นอนนะครับ เพราะเราประสบการณ์น้อย อาวุโสน้อย เรียกว่า เรียนรู้แล้วกัน บางคนที่ทนไม่ไหว ร้องไห้ร้องห่ม ซึมไปก็มี ก็ไม่เป็นไร รีบร้องรีบหยุด รีบซึมรีบหาย ไปแก้ตัวใหม่แล้วมารับการเรียนใหม่ในวันพรุ่งนี้

ยิ่งอาวุโสมาก ความรับผิดชอบมาก จะยิ่งโดนมาก เพราะต้องรู้มากรับผิดชอบมาก และต้องดูแลน้องๆที่อ่อนอาวุโสกว่าด้วย เรียกว่า เครียดกว่าตอนนั่งเรียนบรรยายเฉยๆ มากมายเลยนะครับ

เราเข้าใจโครงสร้างการเรียนแล้ว ตอนต่อไปจะแนะนำวิธีเรียนในชั้นคลินิก ...นี่ยังไม่เข้าส่วนเรื่องส่วนตัว พักผ่อนนะเนี่ย...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม