22 เมษายน 2560

โรคติดเชื้อราที่หลอดอาหาร

วารสาร New England Journal of Medicine ฉบับเมื่อ 20 เมษายน 2560 ลงภาพโรคติดเชื้อราที่หลอดอาหาร

คุณหมอ ทาเคชิ คอนโดะ และ คาสุฮิโกะ เทอราดะ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชิบะ จากญี่ปุ่น ลงภาพถ่ายหลอดอาหารของชายอายุ 72 ปี มีอาการกลืนเจ็บมาสองสัปดาห์ โดยที่สี่เดือนก่อนเขาป่วยเป็นหลอดลมอักเสบรุนแรง ต้องได้รับยาปฏิชีวินะเป็นเวลานาน
ผู้ป่วยมารับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนและพบลักษณะปื้นขาวๆยาวๆ คล้ายๆคราบเต้าหู้ ตลอดทางเดินหลอดอาหาร ผลการตรวจก็พบเป็นเชื้อราที่ชื่อว่า Candida albicans
หลังจากที่ให้ยารักษาเชื้อราเป็นเวลาสองสัปดาห์ ผู้ป่วยอาการดีขึ้น มาส่องกล้องซ้ำก็ไม่พบเชื้อราแล้ว ดังภาพที่ปรากฏ

ร่างกายคนปกติก็มีเชื้อรา และทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ หรือผิวหนังก็เป็นด่านหน้าของการรับเชื้อราจากภายนอก ในคนปกติส่วนใหญ่แล้วสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อราไม่ให้ก่อโรคได้ รวมทั้งเชื้อรานั้นส่วนมากก็ไม่ได้ดุเหมือนแบคทีเรีย อัตราการเกิดโรคจึงไม่สูง (เชื้อราดุๆ ก็มีนะครับ)
แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอ เช่น ป่วยเป็นโรคติดเชื้อเอชไอวี ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นเบาหวานที่คุมไม่ได้นานๆ ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอทำให้ควบคุมเชื้อราไม่อยู่

หรือความเสี่ยงบางอย่างที่แม้คนที่ภูมิคุ้มกันปกติ มีความเสี่ยงนี้ก็อาจทำให้ควบคุมเชื้อราไม่ได้ เกิดเป็นโรคติดเชื้อรา เช่นได้รับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องกันนานๆ หรือได้รับยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องกันนานๆ (เชื้อแบคทีเรียดีๆ ที่คอยป้องกันเชื้อรามันจบชีวิตไปด้วย)

เชื้อราอาจเจริญได้ในอีกหลายที่ เช่น ในช่องคลอด(โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ล้างช่องคลอด) ในปาก(โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาสูดสเตียรอยด์แล้วไม่รักษาความสะอาดช่องปาก) ทางเดินหายใจ ที่ผิวหนังบริเวณข้อพับ หรือแถวๆก้น
การรักษานอกจากให้ยาฆ่าเชื้อราแล้ว จึงต้องมาพิจารณาต้นตอของความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อราด้วย เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม