27 เมษายน 2560

ผลการศึกษาเรื่องน้ำตาลเทียมกับผลการเกิดหลอดเลือดสมองตีบและโรคสมองเสื่อม บทสรุป

สองสัปดาห์มานี้ สำนักข่าวต่างประเทศทุกสำนักตีข่าวนี้ หน้าแฟนเพจหลายหน้าทั้งไทยและเทศพูดเรื่องนี้ และพูดต่อๆกันไปเรื่อยๆ ข้อมูลก็แปรปรวนไปเรื่อน เมื่อวานเพจชื่อดังของ อ.เจษฎา ก็ลงเรื่องนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลเทียม เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัมพาตและโรคสมองเสื่อมประมาณสองเท่า !! อ้าวส่งผลเลยนะครับ คนที่เป็นเบาหวานแต่ยังติดหวาน คนที่ชอบดื่มน้ำอัดลมแต่ว่าไม่อยากอ้วน ทำอย่างไร  อุตสาหกรรมเครื่องดื่มและน้ำตาลเทียม ทำอย่างไร 
    ก่อนหน้านี้เคยมีข้อสงสัยและการศึกษาออกมาบ้างครับ แต่ยังเป็นผลที่วัดทางอ้อม เก็บข้อมูลย้อนหลัง ผลที่ออกมาก็สนับสนุนและคัดค้านแนวคิดที่จะบอกว่าเกี่ยวกับโรคสมอง จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่ละเอียดและรัดกุมมาก เพื่อให้น่าเชื่อถือมากที่สุด ผมสรุปมาเป็นข้อๆนะ เพื่อให้บุลากรนอกสาขาการวิจัยและวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เข้าใจ

  1. การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบเฝ้าสังเกต สอบถาม วัดค่า แล้วดูว่าเกิดโรคหรือไม่ ... ไม่ได้เป็นการทดลองที่ควบคุมตัวแปรอย่างเข้มงวด ดังนั้นผลที่ออกมาจะถือว่าเป็นความสัมพันธ์ทางสถิติเท่านั้น
  2. การศึกษานี้เท่าในคนสุขภาพดี ความเสี่ยงการเกิดโรคไม่มาก และทำในกลุ่มประชากรที่เข้ารับการศึกษาโรคหัวใจที่ชื่อ Framingham Heart มานานแล้ว และพื้นฐานการใช้ชีวิต พื้นฐานอาหารและสุขภาพ ต่างจากคนไทยมากๆ แถมการศึกษาแทบไม่มีเชื้อสายเอเชียเลย (เมือง Framingham นี้มีการย้ายเข้าย้ายออกน้อย เรียกว่าติดตามได้ง่าย)
  3. สิ่งที่สนใจ คือ เครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลเทียมนะครับ ไม่ได้แปลผลไปถึงอาหารอย่างอื่นที่ใส่น้ำตาลเทียมหรือการที่เราใช้น้ำตาลเทียมเอง และเครื่องดื่มนั้นคือ soft drink หรือ น้ำอัดลมนั่นแหละครับ โดนมีหน่วยเปรียบเทียบมาตรฐานกับเครื่องดื่มโค้กและเป๊ปซี่ ทั้งแบบขวดและกระป๋อง
  4. วัดผลทั้ง เครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลทั้งน้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้  น้ำอัดลมที่ใส่น้ำตาลจริง และน้ำตาลเทียม  โอเค ผลของตัวอื่นไม่แสดงความเกี่ยวข้องจึงมาสนใจกับ เครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ใส่น้ำตาลเทียม
  5. ผลการศึกษาโดยปรับตัวแปรต่างๆให้เท่าเทียมกันให้หมด พบว่า การดื่มน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมนั้น เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดลือดแดงในสมอง (2.9 เท่า) โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงตีบตัน และ เพิ่มโอกาสการเกิดโรคสมองเสื่อมรวมถึงอัลไซเมอร์ (2.8 เท่า) ยิ่งปริมาณสะสมมาก หรือดื่มมากๆในช่วงเวลาสั้นๆ ยิ่งเสี่ยงมาก ในโรคหลอดเลือดสมองนั้นข้อมูลจะชัดเจน ในโรคสมองเสื่อมนั้นข้อมูลจะเป็นจริงถ้าไม่ไปคิดแยกว่าเสี่ยงโรคต่างๆด้วย เพราะถ้าคิดรวมความเสี่ยงหลอดเลือดต่างๆด้วยนั้น น้ำตาลเทียมจะไม่ค่อยมีผลเท่าไรครับ
  6. ข้อมูลที่ได้นั้น เป็นจริงในประชากรที่ศึกษา แต่โอกาสจะเอาความจริงนี้มาใช้กับประชากรโดยรวมได้ยาก โดยเฉพาะกับประชากรขอประเทศไทยที่พื้นฐานส่วนบุคคลต่างกันอย่างจากกลุ่มตัวอย่างมากมาย
  7. ข้อมูลที่เกิดขึ้นยังมีความแปรปรวนมาก และยังไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้หมดทั้งเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ชีวเคมี และเหตุผลทางสถิติ เรียกได้แค่ว่า เครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียม "มีความสัมพันธ์" กับการเกิดโรคสมอง   ไม่ได้เป็นเหตุผลโดยตรง ยังมีอีกหลายปัจจัยนะครับ
  8. สรุปโดยรวมแน่ๆว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใส่ในน้ำอัดลม...ย้ำนะครับ ที่ใช้ในน้ำอัดลมเท่านั้น  ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่เคยเข้าใจกัน มันมีอันตรายแฝงอยู่และเริ่มเห็นอันตรายมากขึ้น ชัดเจนขึ้น
  9. ยังคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมแน่นอนครับ เพราะการศึกษานี้กลุ่มประชากรไม่มาก ปริมาณคนที่ใช้น้ำตาลเทียมก็ประมาณแค่ครึ่งเดียว แถมที่ใช้นั้นก็ใช้ในปริมาณไม่มาก สัดส่วนการเกิดโรคสมองที่พบในการศึกษานี้ก็ไม่มากครับ เรียกว่าขนาดของปัญหาที่พบยังไม่มากนัก
  10. แต่น้ำตาลจริงนั้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลที่ใส่ในเครื่องดื่มน้ำอัดลม อาหารอื่นๆ ... นี่คือฆาตกรเงียบที่ชัดเจน สร้างโรคอ้วน โรคหลอดเลือด โรคลงพุง ถ้าเป็นโรคแล้วก็จะควบคุมยาก สัดส่วนการใช้ก็มากกว่าน้ำตาลเทียมหลายร้อยเท่า ถ้าจะควบคุมเชิงนโยบายหรือดูแลตัวเองเป็นการส่วนตัว ต้องควบคุมทั้ง "น้ำตาลจริง" และ "น้ำตาลเทียม" 

ครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพท่านหนึ่งสนับสนุนให้ผมเขียนเรื่องนี้ ตอนที่รับปาก ผมได้หาข้อมูลทั้งข่าว แฟนเพจ วารสารจริง บทวิจารณ์ บทบรรณาธิการ เว็บไซต์ทางการแพทย์ เมื่อสรุปและรวบรวมข้อมูลแล้วรู้สึกว่า การศึกษานี้ไม่ได้ซับซ้อนนัก เข้าใจง่าย แต่สิ่งที่ยากกว่าคือบทบาทของการสื่อข้อมูลที่ยังสามารถถกเถียงต่อ ข้อมูลที่ยังเป็นสองด้าน เราจะสื่ออย่างไรให้เป็นกลางและไม่ชักจูงไปในทางใดทางหนึ่ง จึงออกมาเป็นบทความสรุปสำหรับประชาชนและบทความวิจารณ์สำหรับผู้สนใจครับ

คิดต่างเห็นเหมือนอย่างไร แลกเปลี่ยนกันได้ ความรู้จะเกิด ผมอาจจะผิดมากๆก็ได้ครับ  ... จากแอดมินใจกว้างงง..อารมณ์ดี ขี้เหงา เศร้าวันหวยออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม