26 เมษายน 2560

ข้อมูลการศึกษาแบบเฝ้าสังเกต

ข้อมูลการศึกษาแบบเฝ้าสังเกต...มันคืออะไร เชื่อได้ไหม มาฟังตัวอย่างสนุกๆกัน

ในการศึกษาทางการแพทย์นั้นเราศึกษาทางสถิติหลายแบบหลายอย่าง ระดับความน่าเชื่อถือหรือการนำไปใช้มีหลายขั้น เราแบ่งง่ายๆเพื่อทำความเข้าใจกับบุคลที่ไม่ได้อยู่ในสายการแพทย์ ได้ 2 อย่าง

อย่างแรก คือ การศึกษาแบบทดลอง (experimental) คือผู้วิจัยเป็นผู้กำหนดกลุ่มตัวอย่างที่จะทำการศึกษาเรื่องใด จัดการแบ่งกลุ่มแบบไม่ให้โน้มเอียงไปทางใด ให้การทดลองทั้งตัวยาทดลอง และตัวยาหลอก (ชื่อยาหลอกแต่จริงๆคือ กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ใส่ยาทดลองเข้าไป) เพื่อติดตามดูผลที่เกิดขึ้นว่า กลุ่มที่ใช้ยา เกิดผลที่ผู้ทดลองกำหนด แตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างไร การศึกษาแบบนี้ถือว่าเป็นมาตรฐานและใช้ในการวิจัยทางคลินิก (clinical trials)

อย่างที่สอง คือ การศึกษาแบบเฝ้าสังเกต (observational) ผู้วิจัยจะติดตามผลที่เกิด ผู้วิจัยไม่ได้เป็นผู้กำหนดกลุ่ม ไม่ได้เป็นผู้กำหนดการทดลอง แต่เฝ้าติดตามผลและตัวแปรต่างๆ จากกลุ่มผู้ใช้สารทดลอง และไม่ใช้สารทดลอง ว่าติดตามไปแล้วผลที่สนใจ เกิดแตกต่างกันหรือไม่ การศึกษานี้มีตัวแปรปรวนมากๆ ต้องกำหนดวิธีการกำจัดตัวแปรปรวนให้ดี ผลจึงเชื่อถือได้ วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีนี้กัน

การศึกษาแบบเฝ้าสังเกตที่ออกมาบ่อยในช่วงนี้ เราหยิบผลลัพธ์สุดท้ายมาพูดกัน มาแปลผลกัน บางทีก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสีย 100% ผมขอยกตัวอย่างสนุกๆง่ายๆให้เข้าใจกัน
แอดมินเพจไม่ดังแห่งหนึ่ง ได้ผลิตสมุนไพรในชื่อ "ลุงหมอเตะปี๊บ" บรรยายสรรพคุณว่าใครใช้แล้วกำลังขาจะดี เตะปี๊บดัง ลุงหมอได้โฆษณาไปทั่วเลยว่า กลุ่มคนที่ใช้สมุนไพรนี้เตะปี๊บดังกว่ากลุ่มคนที่ไม่ใช้ถึง 20% แถมแนบวารสารมาให้ด้วย

แอดมินเพจนั้น ไปสัมภาษณ์คนที่ใช้สมุนไพรกับคนที่ไม่ใช้สมุนไพร ใช้แบบสัมภาษณ์เดียวกัน ได้แต่ละกลุ่มมา 100 คน --- 100 คนนี่ไม่มากนะครับ จริงๆต้องมีการคำนวนด้วยว่าถ้าจะมดสอบให้เห็นความแตกต่างต้องหาจำนวนผู้สัมภาษณ์กี่คน--

แอดมินใช้คำถามปลายปิด ใช่/ไม่ใช่ ไม่ได้เปิดให้ผู้ถามบอกเหตุผล -- แล้วแอดมินรู้ได้อย่างไร ว่าพวกที่ใช้สมุนไพร "ลุงหมอเตะปี๊บ" ไม่ใช้ไม่กินอย่างอื่น หรือกลุ่มคนที่ไม่ใช้ เขาอาจไม่เคยใช้หรือเคยใช้แล้วไม่ได้เรื่องจึงบอกว่า ไม่เคยใช้--

มาดูกลุ่มที่ใช้สมุนไพรแล้วเตะปี๊บดัง ข้อมูลจากแบบสอบถามพบว่า อายุประมาณ 30-40 ออกกำลังกายทุกวัน พักผ่อนเพียงพอ ไม่ต้องทำงานหนัก(คือมีสตางค์พอควร ไม่งั้นไม่มีเงินซื้อผลิตภัณฑ์ของแอดมิน) ส่วนคนที่ไม่ใช้ที่เตะปี๊บแล้วแป๊กๆ กลุ่มอายุเฉลี่ย 40-50 ไม่ค่อยได้ออกกำลัง ทำงานหนัก เหนื่อย อย่าว่าแต่เตะปี๊บตั้งปี๊บให้ตรงๆยังยาก --แล้วอย่างนี้จะมาบอกได้อย่างไร ว่าได้ผลดีเพราะสมุนไพร "ลุงหมอเตะปี๊บ"--

แบบสอบถามแอดมิน ถามว่าภายหลังกินสมุนไพรไปสิบวัน เตะปี๊บเป็นไง มีโทษไหม คนตอบว่าไม่มีโทษอะไรเลย ปกติ อีกหลายคนบอกว่าไม่ได้มีผลอะไรกับปี๊บก็มี -- ก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่า 10 วันนี้มันเพียงพอไหมที่จะทราบผลเสีย บางครั้งเป็นผลเสียระยะยาว พอวิจัยระยะสั้นไป ก็ไม่เห็นผล พอไม่เห็นก็จะไปแปลผลว่า ไม่เกิดผลเสีย ..อันนี้ผิดนะครับ อีกอย่างคนที่บอกว่าใช้สมุนไพรแล้วสิบวันเตะปี๊บไม่ดังเลย ก็จะต้องจัดกลุ่มด้วย บางคนดื่มครึ่งขวด บางคนจัดไปสิบขวด ปริมาณที่ไม่เท่ากัน ผลก็อาจไม่เท่ากัน--

เห็นไหมครับ ต้องดูรายละเอียดจริงๆ จึงจะมาแปลผลได้ว่าใช้ได้หรือไม่ การศึกษาระดับโลกเขาจะมีวิธีการจัดกลุ่มตัวแปร กำจัดตัวแปรปรวน การตรวจสอบผลภายในหลายๆขั้นตอน เพื่อลดข้อผิดพลาดและแปรปรวนให้น้อยที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นศูนย์เพราะทุกอย่างมีข้อจำกัด ขึ้นกับคนอ่านว่าจะใช้อย่างไร เข้าใจไหม

นอกเหนือจากนั้นยังต้องคิดด้วยว่าผลการศึกษาเอามาใช้กับเราได้ไหม อย่างสมุนไพร "ลุงหมอเตะปี๊บ" อาจมาใช้กับคนอายุ 20-30 แล้วผลอาจจะไม่ตรงกับที่วิจัยเพราะทำการศึกษาต่างกันนั่นเอง หรือจะไปใช้กับฝรั่งไม่ได้ เพราะทำการศึกษาในคนไทยเท่านั้น

ที่อารัมภบทมามากมาย เพราะอยากให้รู้ทันการอ้างอิงผลการศึกษาของผลิตภัณฑ์หลายชนิด และเป็นพื้นฐานกับเรื่องที่จะมาเล่าวันถัดไปเรื่องของ ...น้ำตาลเทียม ส่งผลต่อหลอดเลือดสมองและสมองเสื่อม จริงไหม .. ผมลิงค์เรื่องสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เคยเขียนมาให้อ่านเล่นๆกันก่อนนะครับ ส่วนฉบับที่จะเล่า..ต้องติดตามต่อไป

บทความเรื่อง PKU กับเครื่องดื่มซีโร่
https://m.facebook.com/story.php…
บทความเรื่อง สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
http://medicine4layman.blogspot.com/20…/…/blog-post_19.html…
เครดิตภาพ : menace-theoriste.fr

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม