19 เมษายน 2560

หัวใจล้มเหลว 1

หัวใจล้มเหลว ... ไม่ได้หมายถึงอกหักหรือรักไม่เป็น แต่เรากำลังพูดถึงภาวะที่หัวใจทำงานได้ไม่ดี จนทำให้ร่างกายมีความผิดปกติ

หัวใจล้มเหลวเป็นภาวะ คำว่าภาวะ คือมีหลายๆอาการ หลายๆอย่างมารวมกันเรียกว่ากลุ่มอาการหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจมีต้นกำเนิดจากโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายๆโรคก็ได้ ผมยกตัวอย่าง ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นก็จะหยุดทำงาน หัวใจปั๊มเลือดไม่ได้ หรือว่าไม่เต็มที่ ... หน้าที่การทำงานบกพร่องแล้ว จนเกิดสารน้ำคั่งค้างในตัว อย่างนี้ก็คือ หัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

หัวใจล้มเหลว มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เฉียบพลันก็คือเกิดเหตุการณ์ปัจจุบันขึ้น แล้วหัวใจรับภาวะนั้นไม่ไหว เช่นหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือมีเลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจจนบีบอัดหัวใจขยับไม่ได้
แบบเรื้อรัง ก็คือการทำงานที่บกพร่องลง แต่ว่าร่างกายยังสามารถ "จัดการได้" โดยการใช้ระบบประสาทและฮอร์โมนต่างๆ มาช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ เมื่อใดก็ตามที่ระบบการพยุงมันล้มเหลวไป ก็จะกลายเป็นหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันไปนั่นเอง

กล่าวว่าหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะปลายทางของการทำงานต่างๆของหัวใจที่บกพร่องไปนั่นเอง และกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของหลายๆโรค อย่างเช่นโรคเบาหวานส่วนมากก็เสียชีวิตจากโรคหัวใจ ก็เพราะโรคเบาหวาน ทำให้หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ ทำให้ตีบ ตีบเสร็จกล้ามเนื้อก็ตาย หัวใจก็วาย วายมากๆก็เสียชีวิต
การดูแลรักษาโรคหัวใจวาย จึงเป็นการดูแลโรคต้นกำเนิดให้ดี และประคับประคองไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไปจนแย่ ...ยังจำที่กล่าวตอนต้นได้ไหมครับ ร่างกายใช้ระบบฮอร์โมนและระบบประสาท เพื่อกระตุ้นให้หัวใจทำงานต่อได้ แต่การกระตุ้นนี้นานไปจะทำให้หัวใจผิดรูปและทำงานแย่ลง (cardiac remodeling) จึงต้องใช้ยามาปรับให้สมดุล

ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ควรมีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง การออกกำลังกาย แน่ล่ะว่าด้วยสภาพหัวใจคงออกกำลังกายหนักมากไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่เฉยๆก็ยังเหนื่อย แต่ว่าจะต้องออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพโรค ต้องปรึกษาแพทย์ที่รักษาอยู่นะครับ สภาพโรคนั่นก็เป็นพลวัติ คือเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งดีขึ้นและแย่ลง ก็ต้องมีการปรับการออกกำลังกายตามนั้นด้วย

การกินอาหาร ก็ต้องปรับพลังงานให้เหมาะสมกับกิจกรรมในแต่ละวัน เพราะเมื่อเราออกแรงน้อยลง พลังงานที่เข้าไปก็ต้องน้อยลงด้วย ขืนยังกินมากๆเท่าเดิมก็จะอ้วน น้ำหนักขึ้น การรักษาหัวใจวายจะยากขึ้น ที่เน้นคือการลดเกลือครับ ตามมาตรฐานคือบริโภคเกลือ น้อยกว่า 2300 มิลลิกรัมต่อวัน เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าจืดสนิทและต้องทำกับข้าวเอง แต่ถ้าทำไม่ได้ ให้งดเครื่องปรุงและอาหารแปรรูปครับ
ถามว่าต้องจำกัดน้ำหรือไม่ ในผู้ป่วยโรคหัวใจเรื้อรังนั้นให้ดื่มน้ำตามปกติครับ โดยทั่วไปก็ 1.5-2.0 ลิตรต่อวัน การจำกัดน้ำจะกระทำเมื่อผู้ป่วยมีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ หรือ หัวใจวายเฉียบพลันครับ

การสังเกตอาการที่บ่งบอกว่า น่าจะ..น่าจะ..นะครับ เพราะอาการของโรคหัวใจวายเรื้อรังไม่ได้เฉพาะเจาะจงมากเท่าไร ต้องสังเกตอาการเป็น เมื่อเริ่มแย่ลงก็ต้องรีบทำการแก้ไขก่อนที่จะกลายเป็นหัวใจวายเฉียบพลัน (acute decompensated heart failure) ดังนี้ สังเกตอาการเหนื่อย ว่าถ้าทำกิจกรรมเท่าเดิมแต่เริ่มเหนื่อยมากขึ้น หรือไม่ทำอะไรก็เหนื่อย การสังเกตอาการบวม แม้ว่าอาการบวมอาจเกิดได้หลายสาเหตุ อาจไม่ใช่จากหัวใจวายก็ได้ แต่ถ้าบวมมากขึ้นก็ต้องระวัง สังเกตง่ายๆที่หลังเท้า หน้าแข้ง หรือถ้านอนติดเตียงก็ดูที่ก้นกบ ส่วนมากจะไม่ค่อยพบหน้าบวมตาบวม อาการนอนไม่ได้ นอนราบระดับหัวใจแล้วเริ่มหอบ บางคนหอบจนต้องนั่งหลับ หรือตื่นมาหอบ..ตื่นมาหอบนะครับ ไม่ใช่ว่าตื่นมาจากสาเหตุอื่นแล้วจึงหอบ เช่น ฝันเห็นลุงตู่

น้ำหนักตัวก็เป็นสิ่งที่สังเกตง่ายๆ ชั่งน้ำหนักทุกๆวัน ถ้าหนักขึ้นเรื่อยๆ เร็วๆ เช่น วันละครึ่งกิโลกรัม ต้องระวังแล้ว บางคนก็มีอาการบวมที่ท้อง คนไข้บางคนก็จะมีหลอดเลือดดำที่คอโปางพองอย่างชัดเจน

เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ต้องรีบไปพบแพทย์นะครับ
ตอนต่อไปเรามาดูเรื่องยาและการรักษากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม