05 เมษายน 2560

กว่าจะจบแพทย์ ตอนที่ 4

ทำอย่างไรจึงจะจบแพทย์ ตอนที่สี่

สำหรับการเรียนทางคลินิกจะไม่ใช่การท่องตำราเป็นหลัก จริงอยู่นะครับว่าตำราเราก็ต้องอ่าน แต่การเรียนหลักของเราจะเเป็นการเรียนที่เรียกว่า problem-based learning คือตั้งต้นจากปัญหาแล้วค่อยๆแกะไปที่ทฤษฎี เป็นการเรียนจากคนไข้ ทั้งคนไข้ของเราเองและคนไข้คนอื่น

หลังจากเราไปลุยมาในแต่ละวัน เราจะมีปัญหาและคำถามมากมาย ที่ต้องมาอ่านและตอบปัญหาตัวเองให้ได้ถ้าเราคิดแค่จบการเรียนเมื่อก้าวลงจากวอร์ด อันนี้ผิดนะครับ และเราก็จะต้องใช้เวลาให้ประหยัดมากขึ้น เวลาเรียนทางปรีคลินิกเรายังมีเวลาย่อยสองสามวันได้ แต่การเรียนทางคลินิกบางทีพรุ่งนี้ปัญหาก็เปลี่ยน หรือตามการรักษาของอาจารย์ไม่ทันแล้ว ตรงนี้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์จะช่วยมาก กดแอป กดหนังสือเข้าใจกันหน้างานเลย บางคนอาจไม่ได้มีเวลาบันทึกเพราะ ภารกิจในแต่ละวันก็เหนื่อยลากดินแล้ว แต่อย่างไรต้องทบทวน ผมแนะนำ ... ตอบปัญหาให้ได้ทุกอย่างก่อนตะวันขึ้นในวันพรุ่งนี้...

ตำราของเราจะอ่านเฉพาะส่วนสาขาที่เราไปผ่านตอนนั้น เรียกว่าขอบข่ายจะแคบลงแต่ลึกลงในรายละเอียดมากขึ้นครับ ตำรามีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ใครอยากฝึกตัวเองผมแนะนำหนังสือ standard textbook สำหรับวิชานั้นๆ ไม่มีสตางค์ซื้อหาก็ยืมห้องสมุดได้ จะได้ความรู้ที่ถูก แม่นยำ และฝึกการอ่านไปในตัว ผมย้ำๆๆ ภาษาอังกฤษในตำราไม่ยากเลยครับ ... ใครอยากอ่านภาษาอังกฤษยากๆ เชิญ the lord of the ring มึนหัวเลยทีเดียว
ตำราภาษาไทยก็มีมากมายครับ สามารถเลือกอ่านได้ อาจารย์หลายท่านหลายสถาบันย่อยมาให้แล้ว ผมแนะนำส่วนตัว ให้อ่านภาษาไทยแบบเป็นแนวทางแล้วไปเจาะลึกในตำรามาตรฐานอีกครั้ง ใครจะเพิ่มเติมด้วยวารสานทางการแพทย์จะดีมาก

...แนะนำ review article ของแต่ละวารสาร ดีมากๆ ..เครดิต อ.1412...

การเรียนเป็นกลุ่มจะเริ่มยากขึ้นเพราะแต่ละคนมักจะมีเวลาปฏิบัติงานไม่ตรงกัน ขึ้นเวร รับผู้ป่วย เฝ้าคลอด เข้าผ่าตัด หรือบางทีออกไปเรียนวิชาเลือกนอกโรงพยาบาลก็มี ...วิชาเลือก เพื่อได้ไปเรียนรู้ของจริงในที่ๆไม่ใช่โรงเรียนแพทย์ ไม่ได้มีพร้อมทุกอย่าง..
การทบทวนและเรียนด้วยตัวเองจึงสำคัญ เมื่อครู่บอกไปว่าขอบข่ายวิชาจะแคบลง ผมขอเว้นไว้หนึ่งวิชานะครับ คือ อายุรศาสตร์ เขามีคำกล่าวว่า ความรู้อายุรศาสตร์ทางอายุรศาสตร์เปรียบเหมือน "ทะเล" กว้างไม่พอยังลึกอีก อ่านเท่าไร ก็ไม่เห็นฝั่ง ผมยืนยันว่าจริงครับ ทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นฝั่ง แค่มีเรือคุณภาพดีกับเรดาร์ชั้นเยี่ยม เท่านั้น

หลังจากเรียนจบ ปฏิบัติงานครบ เขียนรายงาน อภิปราย ก็จะถึงการ "สอบลงกอง" คือสอบรวบยอดในช่วงที่ปฏิบัติงาน ก่อนจะไปเรียนวิชาอื่นต่อไป ทั้งข้อเขียน ตัวเลือก สอบปฏิบัติหัตถการ แล็บกริ๊ง เรียกว่าออกข้อสอบได้ทุกส่วน แม้ว่าขอบข่ายจะกว้าง แต่ถ้าเราจับหลักได้ จะไม่ตกแน่ๆครับ
ไม่ใช่แค่คะแนนสอบต้องผ่าน จริยธรรมต้องดีด้วย ต้องได้รับการประเมินจากรุ่นพี่ อาจารย์ที่คุมการปฏิบัติงาน อู้งานไหม..หลบเลี่ยงไหม..ตอนนำเสนอทำได้ดีไหม..ช่วยงานดีไหม #เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่หมอที่เก่งเราต้องการหมอที่ดีด้วย#

กว่าจะผ่านแต่ละกองยากมาก บางกองที่ต้องเรียนสองครั้ง คือวิชาหลัก เนื้อหาก็จะเข้มข้นขึ้น รายละเอียดมากขึ้น อย่าไปคิดว่าชั้นปีห้าจะหมูเหมือนปี่สี่ อาจารย์ก็คาดหวังว่าเราต้องพัฒนาขึ้น เพราะเมื่อจบปีห้าก็คล้ายๆกับจบวิชาแพทย์พื้นฐานแล้ว การวินิจฉัยการรักษา ต้องพอรู้พอเข้าใจ เพื่อไปต่อยอด อ่านต่อได้

พอลงกองนี่แหละ..เราก็จะเหมือนได้พัก หนึ่งคืน เพราะพรุ่งนี้ไปเริ่มสาขาวิชาใหม่ มักจะเป็น introduction เบาๆนั่นเองครับ คืนนั่นก็กินเที่ยว กลับดึกกัน ก็มักไม่เกินเที่ยงคืนเพราะง่วงมาก และพรุ่งนี้ก็ต้องไปวอร์ดใหม่ โอพีดีใหม่ ผจญภัยและเรียนรู้ของใหม่ วันแรกๆนี่จะสดใสที่สุด แอดมินยังจำวันที่ไปรับการ orientation วิชาศัลยศาสตร์ กับท่านอาจารย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ได้เลย ใช่ครับ ท่านคณบดีคณะแพทย์ศิริราชและนายกแพทยสภาคนปัจจุบันนี่แหละครับ สอนวิธีการทำงาน วิธีการดูคนไข้ทางศัลยกรรม สถานที่ต่างๆ การแบ่งเวร การอยู่เวร

เราจะได้เรียนจนครบทุกวิชาในช่วงสองปีนี้ อยากฝากว่าตั้งใจให้มากที่สุดนะครับ ทำซ้ำดูซ้ำไม่ได้ ยกเว้นจะซ้ำชั้น ทุกวันทุกชั่วโมงที่ผ่านไปคือการกล่อมเกลาแพทย์ที่ดี ที่ชำนาญออกสู่สังคม ผมเชื่อว่าพื้นฐานที่ดีจะทำให้เก่งและดี ถ้าพื้นฐานตรงนี้ไม่ดีเสียแล้ว โครงร่างไม่ดีเสียแล้วก็ยากที่จะแก้ไข...แต่ก็ใช่จะทำไม่ได้ ต่อไปก็จะเห็นว่า นศพ.ที่ชอบอายุรศาสตร์คนหนึ่ง แต่คะแนนไม่ดี ก็ยังขวนขวายไขว่คว้า จนได้เป็นอายุรแพทย์สมใจได้

หลังจากจบห้าปี เราจะมีการสอบ comprehensive examination เรียกว่าสอบรวบยอดความรู้ ต้องใช้ความรู้ทั้งหมดจากปี 2-3-4-5 มาทำข้อสอบนี้ เป็นการสอบประมวลความรู้ก่อนจบทั้งประเทศ ไม่ผ่านไม่ได้เป็นแพทย์ครับ คณะฯจะส่งคนที่ไม่ตก ไม่มีปัญหาการเรียน ปฏิบัติงานผ่านมาสอบ สมัยผมสอบครั้งแรกตอนจบปีห้าและมีให้แก้ตัวอีกครั้งตอนจบปีหก ข้อสอบเยอะมาก สอบสองวันครึ่งเช้าและบ่าย คละกันจนเวียนหัว กรรมการคุมสอบต้องมาปลุกให้ตื่นมาทำต่อมากมายครับ เพราะร่างกายอ่อนล้าเต็มที
อันนี้ต้องช่วยกันติวครับ คนเดียวอ่านไม่หมดแน่ๆ เพราะข้อสอบเยอะมาก ออกได้ทุกจุด ทุกวิชา ผมแบ่งกันกับเพื่อนช่วยกันอ่านมาติว คนหนึ่งถามอีกสี่คนตอบพร้อมประกอบเหตุผล แล้วคนถามก็เฉลยและเหตุผลพร้อมข้อควรจำเพิ่มเติม

สรุปว่า...ผ่านนะครับ..ผมจึงสามารถขึ้นปฏิบัติงานในชั้นปีที่หก ที่เรียกว่า นักศึกษาแพทย์ภาคเวชปฏิบัติ ที่ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ความรับผิดชอบ ความอดทน ไหวพริบขั้นสุดยอด และได้รับมอบเสื้อที่เรียกว่า เสื้อเอ็กซเทิร์น หรือ เสื้อสามารถ (อะไรที่ทำไม่ได้ ไม่เคยทำ พอใส่เสื้อนี้แล้ว ต้องทำได้)
ติดตามตอนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม