07 เมษายน 2560

กว่าจะจบหมอ ตอนที่ 5

เสื้อสามารถแห่งความสามารถ .. นักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติ  การเรียนแพทย์ชั้นปีที่หก คือ การนำความรู้ทั้งหมดมาฝึกในการดูแลรักษาคนไข้จริง ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยผ่าตัด
   เรียกว่าชั่วโมงบรรยายจะน้อยลงมากๆ อาจจะมีให้สัปดาห์ละหนึ่งถึงสองครั้ง เกือบทั้งหมดจะเป็นการเรียนการสอนข้างเตียง โดยการปฏิบัติงานจริงภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์หรือแพทย์ประจำบ้าน เอ๊ะมันหมายความว่าอย่างไร...

   อย่างเช่นในตอนเช้าเราต้องตื่นมาราวด์วอร์ดก่อนพี่ก่อนอาจารย์ เราต้องมาตรวจคนไข้ที่เราดูแล ตรวจสอบผลเลือด ออกแบบการรักษาเตรียมนำเสนอรุ่นพี่แพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ตอนที่ท่านมาราวด์วอร์ด เพราะว่าเรายังไม่มีใบประกอบวิชาชีพนั่นเอง ตรงนี้จะได้การเรียนของจริงว่าสิ่งที่เราคิดถูกผิดหรือไม่เหมาะสมอย่างไร   การออกตรวจผู้ป่วยนอกทำเหมือนแพทย์จริงๆแต่ก็จะมีอาจารย์คอยช่วยดูแล ในกรณีสงสัยหรือมีปัญหา การทำหัตถการหรือผ่าตัด การทำคลอด ก็จะมีแพทย์รุ่นพี่และอาจารย์มาดูแล
   แพทย์รุ่นพี่และอาจารย์เสียสละมากนะครับ เพราะงานพวกนี้ทำเองเร็วกว่าต้องมาสอนอย่างมากมาย การต้องสอนข้างเตียง สอนทำหัตถการทางการแพทย์ ต้องใช้เวลาและความอดทนมาก  ดังนั้นน้องๆจึงต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดีไม่อยากนั้นอาจถูกดุได้..ชีวิตคนนะ

    เพราะฉะนั้นนักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติจึงต้องมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา มีทักษาต่างๆที่ฝึกฝนมาในชั้นปีที่สี่และห้ามากพอ ระเบียบวินัย ต้องมีต้องได้ อยู่ๆจะไม่ทำงานไม่ได้ เพราะนี่คือความรับผิดชอบ  และยังต้องคอยควบคุมดูแลน้องที่มาขึ้นปฏิบัติงาน เหมือนกับตอนที่เรายังเป็นเด็กปีสี่ปีห้าด้วย ไม่ง่ายเลยใช่ไหมครับ
   สิ่งหนึ่งที่จะเข้มข้นมากคือ การอยู่เวร  นักเรียนแพทย์ปีหกนี้ บางคนไม่ได้เจอหน้าเพื่อนหรือไม่ได้คุยกับเพื่อนร่วมชั้นปีที่ไม่ได้อยู่วอร์ดเดียวกันเลยตลอดทั้งปี เพราะการอยู่เวร เก็บประสบการณ์การแก้ไขปัญหาคนไข้จริง อุบัติเหตุฉุกเฉิน ผ่าตัดกลางดึก คลอด   การอยู่เวรจะบ่อยมากๆ และตอนเช้าก็ต้องมาทำงานประจำต่อเนื่อง ...สมัยนั้นมีคำกล่าวว่าถ้าเอา sleep factor ในตัวเอ็กซเทิร์น มาสกัดแล้วเอาไปทำปืนยิงยาสลบถึงขั้นล้มช้างได้เลย

   และจะมีวิชาเพื่อออกไปเรียนรู้ประสบการณ์โลกภายนอกก่อนออกไปเจอของจริง ไม่ว่าจะเป็นการออกไปสู่โรงพยาบาลขนาดเล็กประจำอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด เพื่อให้เห็นว่าสภาพการณ์และผู้ป่วยนอกโรงเรียนแพทย์เป็นอย่างไร รักษาอย่างไร จัดการคนไข้มหาศาลอย่างไร ระบบการจัดบริการสาธาณสุขไทยที่จะต้องไปรับมือมันเป็นอย่างไร เรียกว่าเคี่ยวกรำเต็มที่
    ด้านวิชาการก็ต้องเรียนและทบทวนตลอด เพราะต้องใช้จริงในการรักษา การตอบการอภิปรายข้างเตียง ในห้องตรวจ ในห้องผ่าตัด และการนำเสนอคนไข้ในแต่ละวัน นอกจากตรวจเป็น คิดรวบรวม วิเคราะห์ด้วยความรู้ และสรุปรวบยอดแล้วนำเสนอ จึงเป็นการบูรณาการความรู้ทั้งหมดมาใช้อย่างแท้จริง

   ตอนปีหกพวกเราจะรักกันมาก เพราะเวลาต้องทำงานหนัก เหนื่อย ต้องดูแลซึ่งกันและกัน บางคนก็ธาตุไฟแตกแสดงธาตุแท้ของตัวออกมา ดังนั้นการจะจบออกมาได้ ความรู้ดีความรับผิดชอบดี ไม่เพียงพอจะต้องมีจริยธรรมและ ความเป็นคน ที่ดีพอด้วย
   คะแนนส่วนมากจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงาน ส่วนสัดส่วนคะแนนสอบข้อเขียนจะลดลง และยากขึ้นอีกด้วย สำหรับใครที่ยังสอบประมวลความรู้ไม่ผ่านจะมีโอกาสแก้ตัวอีกครั้งนะครับ คนไหนที่ผ่านแล้วก็จะให้โอกาสเพื่อนได้ติววิชา และทำงานแทนเพื่อนๆ

   การเรียนการอ่านในชั้นปีหกจะยากมากเพราะร่างกายเราอ่อนล้าจากการทำงานมาหนักหน่วง แต่ในอีกแง่ถ่าเราตั้งใจมาตลอด มันก็ไม่ยากนัก  ต้องบอกว่าข้อสอบแพทย์ไม่ยากนะครับ แต่ต้องรู้ให้หมดและขบประเด็นให้ดีเท่านั้น ไม่ได้ซับซ้อนหรือยากเท่าคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ ไม่ได้แตกย่อยและกว้างเหมือนสังคม เพียงแต่ต้องรู้ เข้าใจประเด็นและจำได้ครับ (ใช้บ่อยๆทำบ่อยๆจำได้เองครับ)
    บางทีสไลด์ต่างๆ วิดีโอสะสมในคอมฯ ไม่ได้อ่าน ไม่ได้ดูเลย แนะนำอย่าพอกครับ ไม่งั้นไม่ทันแน่นอน...ความสม่ำเสมอ สำคัญมาก ผมแนะนำใส่ในไอแพดครับ อ่านทุกเวลาที่พร้อม เวลามันน้อยจริงๆนะ ใครๆเห็นนักเรียนแพทย์นั่งอ่านไอแพด อย่าคิดว่าเว่อร์นะครับ แต่เอาสะดวกและเวลาที่ไม่มากจึงต้องทำแบบนี้ ขออาจารย์ ขอเพื่อน แบ่งกัน แต่อย่าเอาไปใช้โดยไม่ใช้เครดิตนะครับ

ที่ฮามาก คือ ก็อปปี้ลงไปใหม่ แล้วคอมฯมันฟ้องว่า this file is already existed คือจำไม่ได้ว่ามีแล้ว เพราะยังไม่ได้อ่าน ...อันนี้ของตัวเองเลย สะสมจนลืม

   ช่วงเวลาสุดท้ายของการเป็นนักเรียนแพทย์ ของเพื่อนๆที่วันหน้าจะไม่ได้มารวมกันแบบนี้อีก ทุกเวลาทุกวินาทีที่เรียน ที่ศึกษาคือความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์ ทุกเวลาคือเพื่อนร่วมรุ่นที่จบแล้วยากมากจะมารวมกัน ใช้เวลาให้คุ้มค่าครับ หกปีนั้น ไม่นานเลย

   สำหรับผม มันยังเห็นชัดทุกครั้งที่หลับตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม