20 เมษายน 2562

การตรวจ tuberculin และ IGRA

วัณโรค เป็นโรคที่พบบ่อยมากในประเทศไทย แต่สำหรับในต่างประเทศมีการระบาดไม่มากนัก ผู้ที่จะเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศอาจจะเคยได้ยินการตรวจคัดกรองวัณโรคชนิดที่เราไม่ค่อยได้พบกันมากนักคือ การทดสอบทุเบอร์คูลิน (Tuberculin Skin Test) หรือการตรวจหาอินเตอร์เฟอรอนแกมม่า (Interferron Gamma Releasing Assay)
การทดสอบทั้งสองนี้เป็นการทดสอบทางอ้อม คือตรวจหาร่อยรอยการติดเชื้อจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย พูดง่าย ๆ คือถ้าร่างกายเคยมีการติดเชื้อวัณโรค ร่างกายจะจำได้และมีปฏิกิริยาสนองตอบ หากเรานำเชื้อวัณโรคไปให้ภูมิคุ้มกันชี้ตัว แล้วภูมิคุ้มกันบอก "อ๋อ ใช่ จำได้นี่แหละ วัณโรคที่เคยมาสร้างความเดือดร้อนให้ร่างกาย" เรียกว่าผล positive แต่ถ้าภูมิคุ้มกันส่ายหน้าบอกว่า "นี่ใครวะ" ก็เรียกว่าผล negative
เห็นข้อเสียหรือยัง...ใช่แล้ว
1.ถ้าเกิดจำไม่ได้ ถึงแม้เคยพบ มันก็บอก negative เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเอชไอวี โรค SCID การได้ยากดภูมิคุ้มกัน
2.การจำได้คือเหตุการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เคยเจอเมื่อวานนี้ เคยเจอวันนี้ หรือเคยเจอเมื่อสิบปีก่อน ผลออกมาคือเคยเจอเหมือนกัน
3.ถ้ามีเชื้อบางตัวที่หน้าตาคล้ายกัน อาจเกิดการชี้ตัวผิด มีผลบวกปลอมได้ เช่นเกิดติดเชื้อ mycobacterium bovis หน้าตาคล้ายวัณโรคคือ mycobacterium tuberculosis ก็จะออกมาผลบวกเหมือนกัน
ส่วนการตรวจเสมหะไม่ว่าจะหาเชื้อจากการย้อมสี หาเชื้อจากการเพาะเชื้อ หาเชื้อจากการทำ PCR ถือเป็นการตรวจจับตัวเชื้อโดยตรง ไม่ใช่ตรวจทางอ้อม การตรวจหาเชื้อจะเป็นการยืนยันการวินิจฉัย โดยเฉพาะในประเทศที่ความชุกวัณโรคสูงอย่างบ้านเรา เราอาจเคยติดเชื้อวัณโรคแต่ไม่เป็นโรคไม่มีอาการ (ซึ่งโอกาสเยอะมาก) ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันอาจอยู่ในกรณีข้อสอง แต่พอไปหาเชื้อตรง ๆ ก็ไม่เจอ จึงไม่สามารถระบุได้ว่ากำลังติดเชื้ออยู่ ณ ขณะนี้
การทดสอบแอนติบอดี มักจะใช้ในการตรวจทางการศึกษา ระบาดวิทยา การตรวจหาการติดเชื้อแอบแฝง การตรวจคัดกรองเวลาจะไปต่างประเทศที่การระบาดไม่มาก ไม่ได้ใช้เป็นการตรวจคัดกรองโดยทั่วไปในสถานที่ที่ความชุกของโรคสูงเช่นประเทศไทย
การทดสอบทุเบอร์คูลิน คือการฉีดน้ำยาเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อดูว่าร่างกายจำการติดเชื้อได้หรือไม่ ถ้าจำได้จะเกิดปฏิกิริยาบวมแดงร้อนหลังจากฉีด 48-72 ชั่วโมง อาจเกิดจากเคยติดเชื้อในอดีต การติดเชื้อแอบแฝง เคยติดหรือสัมผัสเชื้อ mycobacteria สกุลอื่น ๆ และอาจแปลผลได้ยากหากเคยได้รับการฉีดวัคซีน บีซีจี มาก่อน (ซึ่งก็เคยปลูกฝีกันเกือบทุกคนแล้วล่ะ) มันจึงมีความยากในการแปลผล ยังไม่รวมเทคนิควิธีการฉีดอีก (ฉีดยากนะครับ)
การตรวจ IGRA คือการนำเลือดมาทดสอบ (ตัวที่ทดสอบคือเม็ดเลือดขาวโมโนไซต์ในเลือด) หลังนำเลือดมาต้องตรวจโดยเร็วเดี๋ยวเม็ดเลือดฝ่อสลายไปเสียก่อน และใส่ชิ้นส่วนของวัณโรคลงไป หากโมโนไซต์ของเราจำเชื้อได้จะหลั่งสาร interferon มาให้ตรวจพบได้ การทดสอบนี้จะไม่ข้ามปฏิกิริยาในคนที่เคยปลูกฝีวัคซีนบีซีจี เพราะใช้แอนติเจนคนละชนิดกัน
เวลาจะไปทำงานต่างประเทศ บางประเทศจะต้องการการตรวจแบบนี้ หากผลอันใดอันหนึ่งแปลผลได้ยากก็อาจจะทำอีกวิธีหนึ่ง หากผลเป็นบวกจริงก็ยังต้องติดตามต่อไป เพราะอย่าลืมว่าประเทศเราเป็นแดนระบาดวัณโรค อาจเกิดผลบวกในคนที่เคยสัมผัสโรคแล้วและตอนนี้ไม่ได้เป็น ไม่มีเชื้อแล้วก็เป็นได้
ผู้ที่สนใจ IGRA สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/rr5905a1.htm…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม