09 เมษายน 2562

osteonecrosis of jaw

ยากระดูกพรุน bisphosphonates, ทันตกรรม, วันหยุดยา (drug holiday)
เรายังวนเวียนอยู่กับ bisphosphonate เพราะเป็นยาที่ใช้มาก การศึกษาเยอะ ประสิทธิภาพสูง เจ้ายาตัวนี้สามารถชลอการลดลงของมวลกระดูก จนถึงทำให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้น ลดโอกาสการเกิดกระดูกสันหลังหัก และกระดูกอื่นที่ไม่ใช่กระดูกสันหลังด้วย
แต่ยานี้ก็มีผลข้างเคียงบ้าง โดยเฉพาะหากใช้ต่อเนื่องก็จะเห็นชัดขึ้น แต่ขอบอกก่อนว่าอัตราการเกิดผลแทรกซ้อนจากยาถือว่าน้อยมาก ๆ หนึ่งต่อหมื่นสองหมื่น และไม่เกิดกับทุกคน โดยผลที่พบมากกว่าและน่ากังวลคือ atypical femoral fracture กระดูกต้นขาหัก ส่วนการตายของกระดูกกรามบางส่วนนั้นพบไม่มากครับ เพียงแต่มันรบกวนคุณภาพชีวิตมาก เพราะกินลำบาก อันนี้มักจะพบถ้ามีประวัติโรคฟันและช่องปากมาก่อน
จึงมีแนวทางให้ตรวจฟันก่อนตัดสินใจให้ยา bisphosphonate, ให้ไปแล้วก็ต้องรักษาอนามัยช่องปากและมีการตรวจฟันและช่องปากเป็นประจำ อย่างน้อยก็ปีละครั้ง และเมื่อให้ยาแล้วก็ควรเลื่อนการทำหัตถการทางทันตกรรมไปก่อนครับ ...เลื่อนไปนานไหม เดี๋ยวเรามาดูกัน
และถ้าให้ยาไปแล้วเกิดความจำเป็นต้องทำหัตถการทางทันตกรรม ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้ยาครับ ว่าจะหยุดยาชั่วคราว แบบไม่ค้างคืน ได้ไหม และหากทำแล้วก็ต้องติดตามว่าจะมีกระดูกตายติดเชื้อหรือไม่..เอ๊ะ หยุดได้ด้วยหรือ เดี๋ยวเรามาหาคำตอบกัน
ส่วนถ้าพบการตายของกระดูกกราม (osteonecrosis of jaw) ก็จะแบ่งเป็นระดับครับ
1.ระดับหนึ่ง ไม่มีอาการ ตรวจพบแค่เห็นกระดูกหรือเอ็กซเรย์พบ ให้ติดตามอาการและรักษาความสะอาด อาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบ้วนปาก
2.ระดับสอง มีอาการ ปวดบวม (จากเริ่มมีกระดูกตายจนมีอาการประมาณหนึ่งเดือน) ให้เพาะเชื้อจากจุดเป็นโรค ให้ยาฆ่าเชื้อ อาจทำการขูดเนื้อตายเล็กน้อย
3.ระดับสาม มีกระดูกหัก บวม หนองติดเชื้อ อันนี้ต้องผ่าซ่อม ขูดกระดูกและเนื้อตายออก ให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ
และแน่นอนคงต้องเปลี่ยนยากระดูกพรุนไปใช้ยาตัวอื่นแทน
สำหรับเรื่องที่ว่าให้ยาไปนานไหม จะหยุดยาได้ไหม หมอฟันจะทำฟันให้คนที่ได้ยาในช่วง drug holidays ..มันคืออะไร ติดตามตอนต่อไป ขอบิลท์อารมณ์ก่อนนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม