09 เมษายน 2562

แหล่งแคลเซียมอื่น ที่ไม่ใช่จากนม เพื่อกระดูกพรุน

แหล่งแคลเซียมอื่น ที่ไม่ใช่จากนม
นอกเหนือจากนมแล้ว อาหารอื่น ๆ ก็มีแคลเซียมผสมอยู่ด้วยเช่นกัน ในอาหารปกติธรรมดาที่เรากินกันจะได้แคลเซียมเฉลี่ย 200-250 มิลลิกรัมต่อจานต่อมื้อ ดังนั้นหากเรากินอาหารไม่ครบหมู่หรือกินน้อย เราก็จะขาดแคลเซียมได้
อาหารอื่น ๆ ที่มีแคลเซียมสูงเช่น
ปลาตัวเล็ก ๆ ที่เรากินทั้งตัวทั้งก้างทั้งกระดูก กุ้งฝอย ปริมาณหนึ่งช้อนโต๊ะ 10 กรัมจะได้แคลเซียมประมาณ 200 มิลลิกรัม ปกติผมกินครั้งละ 3-4 ช้อนเลยนะครับ แต่เราก็ไม่ได้กินทุกวันจริงไหมล่ะ
ผักใบเขียวก็มีแคลเซียมเช่นกัน ไม่ได้มากเท่านมและปลาเล็กปลาน้อยอย่างที่กล่าวไป แต่หากเรากินสะสมทุกวัน นอกจากแคลเซียมแล้วยังมีวิตามินและเส้นใยอีกด้วย แต่จะมีผักบางอย่างที่อาจขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียมได้ถ้ารับประทานในปริมาณมาก ๆ เช่นผักแพว ผักปวยเล้ง ผักโขม เนื่องจากมีออกซาเลตมาก สามารถขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมจากโครงสร้างทางเคมี แต่ว่าในชีวิตจริงก็ไม่ได้มีผลเท่าไรครับ
การลดปริมาณคาเฟอีน ทั้งกาแฟ โกโก้หรือน้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ก็ช่วยลดโอกาสการเกิดกระดูกพรุนเช่นกัน จะเห็นว่าในชีวิตประจำวันหากเรารับประทานอาหารหลากหลาย ครบหมู่ และเสริมนมไปทุก ๆ วัน จะได้แคลเซียมและวิตามินดีครบถ้วน ยิ่งออกกำลังกายกลางแจ้งจะได้วิตามินดีจากการสังเคราะห์ด้วย กระดูกก็แข็งแรง
แต่หากไม่สามารถทำได้และมีข้อบ่งชี้การกินแคลเซียมวิตามินเสริม ควรกินภายใต้การควบคุมนะครับ แคลเซียมที่แนะนำคือยาเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนต เวลากินให้กินหลังอาหารหรือพร้อมอาหารทันที ปกติจะกินครั้งละไม่เกิน 600 มิลลิกรัมแคลเซียม ถ้าจะใช้มากกว่านี้ควรแบ่งหลายมื้อ ที่สำคัญคือยานี้จะมีปฏิกิริยาขัดขวางการดูดซึมยาอีกหลายชนิดครับ ผลข้างเคียงที่สำคัญคืออาการท้องอืดและท้องผูกครับ
ส่วนวิตามินดีที่คุณหมอให้มาจะเป็นวิตามินดีชนิด 25(OH) vitamin D คือวิตามินดีที่ยังไม่ผ่านการกระตุ้นการทำงานที่ไต เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ไตเปลี่ยนเป็นวิตามินดีชนิด "แอคตีฟ" เราจะไม่ใช้วิตามินดีชนิดแอคตีฟหากไตยังทำงานดีครับ
ผลจากการใช้ยาเม็ดแคลเซียมและวิตามินดีแบบที่ไม่ได้ควบคุม อาจจะเกิดผลเสียได้โดยเฉพาะระดับแคลเซียมในเลือดสูง ยิ่งถ้าใช้ร่วมกับยารักษากระดูกพรุนบางชนิดยิ่งมีโอกาสเกิดมาก ดังนั้นแนวทางการรักษาทั่วโลกจึงแนะนำแคลเซียมและวิตามินจากธรรมชาติเสมอในการป้องกันโรค สำหรับการรักษาและเสริมแคลเซียมด้วยยานั้นควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรเสมอครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม