18 เมษายน 2562

การปรับยาในเดือนรอมฎอน ศีลอด

ใกล้ถึงเดือนศีลอดกันแล้วนะครับ พี่น้องชาวมุสลิมที่รัก
สิ่งที่จะมีผลกระทบแน่นอนสำหรับเดือนรอมฎอน ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมอันใกล้นี้คือ ผู้ป่วยเบาหวาน เพราะการจัดการอาหารและยาที่ผ่านมาตั้งพื้นฐานที่การกินอาหารตอนกลางวันและฉีดยา กินยาตามมื้ออาหาร แต่เวลาถือศีลอดทุกอย่างจะเปลี่ยนไป
ผมแนะนำแบบนี้
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ คุณหมอ คุณพยาบาล คุณเภสัช นักโภชนาการ ต้องเตรียมข้อมูลเพื่อปรับใช้ในเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะในพื้นที่มีชาวมุสลิมในการดูแลมาก ๆ ควรสอนและปรับแต่เนิ่น ๆ ทยอยให้ครบ
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชาวมุสลิม ให้เข้าไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ดูแลประจำ ว่าจะเข้าเดือนรอมฎอนและเราต้องถือศีลอด มาปรับยาตามความเหมาะสม ปรับอาหารตามความเหมาะสม มีเวลาประมาณสองสัปดาห์ครับ ให้เริ่มจัดการได้เลย
ผมนำบทความเมื่อสามปีก่อนมาให้อ่านกัน เนื้อหาใจความหลักยังไม่เปลี่ยนมากนัก แต่จะลงเพิ่มยาใหม่ ๆ ที่ใช้มากขึ้นให้
สำหรับยา SGLT2i คือ -gliflozin ทั้งหลาย แม้ตามกลไกจะไม่ทำให้น้ำตาลต่ำ แต่ก็มีโอกาสเกิดผลเสียได้เพราะจะประสบภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ได้ การใช้ยาจึงต้องมีการปรับแต่งเวลาให้เหมาะสม
ยาฉีด GLP1a กลุ่ม -glutide และ -natide ค่อนข้างปลอดภัย มีการศึกษาเทียบกับ sulfonupylurea คือ gli- ทั้งหลาย พบว่าปลอดภัยมาก
ยาฉีด insulin ชนิดออกฤทธิ์ช้าและนานเช่น degludec insulin น่าจะปลอดภัยตามทฤษฎี แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ยังน้อย
ยาที่ต้องระวังมาก ๆ คือยาฉีดอินซูลินและยากิน gli- ทั้งหลาย
นอกเหนือจากยาเบาหวานแล้ว ยาลดความดันก็อาจต้องปรับตามสภาพการกิน ภาวะการดื่มน้ำขาดน้ำ ไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวยา ปรับเวลา หรือ ลดขนาด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อไต และความดันโลหิตต่ำครับ
ยาปรับฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ต้องกินเป็นเวลาเช่นยารักษาเบาจืด ยาที่ต้องกินตามนาฬิกา เช่น ยาพาร์กินสัน ยากันชัก ต้องนัดพบหมอให้ปรับยาให้เรียบร้อยก่อนถึงวันถือศีลอดนะครับ
ขอให้พี่น้องชาวมุสลิมมีสุขภาพแข็งแรงตลอดเดือนรอมฎอนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม