15 กุมภาพันธ์ 2562

omadacycline

omadacycline
สัปดาห์ก่อนวารสาร New England Journal of Medicine ได้ลงเรื่องราวเกี่ยวกับยาตัวใหม่ในการรักษาโรคเดิม โรคที่พบบ่อย ปอดอักเสบติดเชื้อจากชุมชน คุณ omadacycline เป็นยาที่พัฒนามาจาก tetracycline ให้ทรงพลังและชนะการดื้อยาของเชื้อ ที่ปัจจุบันดื้อยามาก ครอบคลุมเชื้อที่เป็นเชื้อก่อโรคปอดอักเสบจากชุมชนพร้อมสรรพ แถมระดับยาในปอดสูงมาก สามารถให้ยาวันละครั้งได้ด้วย
เป็นการศึกษาในผู้ป่วยปอดอักเสบติดเชื้อความรุนแรงปานกลาง ต้องนอนโรงพยาบาลแต่ไม่ต้องเข้าไอซียู เดิมในแนวทางเขียนว่าสามารถใช้ยา respiratory quinolones ในการรักษาได้ ผู้วิจัยจึงใช้ยา moxifloxacin มาเป็นตัวเปรียบเทียบ อันนี้ผมคิดว่าเพราะให้ยาวันละครั้งได้เหมือนกันและสามารถให้ยาเดี่ยวได้เหมือนกัน จึงยกมาเปรียบเทียบ ให้ผู้ป่วยใช้ยา moxifloxacin หรือ omadacycline เริ่มด้วยยาฉีดแล้วปรับเป็นยากินเมื่ออาการดีขึ้น และวัดผลเรื่องอาการทางคลินิกที่ดีขึ้นในช่วง 72-120 ชั่วโมงแรก ตั้งโจทย์ว่ายาใหม่นี้ต้องมีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่ายาเดิม
ก็ได้คนที่ป่วยพอ ๆ กัน อายุประมาณ 60 สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อาการป่วยก็รุนแรงเท่า ๆ กัน กลุ่มเชื้อโรคที่เพาะได้ก็เหมือน ๆ กันและครอบคลุมเชื้อก่อโรคปอดอักเสบจากชุมชนครบถ้วนดี ผลปรากฏว่ายาใหม่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ทำให้อาการดีขึ้นไม่ต่างจากตัวเปรียบเทียบคือ moxifloxacin ผลข้างเคียงก็พอ ๆ กัน เป็นผลข้างเคียงไม่รุนแรงทั้งนั้น และเดิมที่ต้นกำเนิด omadacycline คือยา tetracycline จะมีเรื่องคลื่นไส้อาเจียนมาก แต่ยาใหม่นี้ก็พบว่าไม่ต่างจากยากลุ่มอื่นที่ไม่ค่อยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
พอสรุปได้ว่าในการรักษาปอดอักเสบติดเชื้อจากชุมชนที่อาการหนักขึ้นอาจต้องนอนโรงพยาบาลแต่ไม่ต้องเข้าไอซียูนั้น การใช้ยา omdacycline สามารถรักษาได้ไม่ด้อยไปกว่ายาเดิมที่ใช้เป็นมาตรฐานตัวหนึ่งคือ moxifloxacin ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะสามารถให้ยาวันละครั้ง (ให้วันละสองครั้งในวันแรก) และปรับเปลี่ยนเป็นยากินวันละครั้งได้ดี ตัวยาสามารถครอบคลุมเชื้อก่อโรคได้มากพอและระดับยาในปอดก็เพียงพออีกด้วย
(การศึกษานี้สนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิต Paratek Pharmaceuticals..แต่ผู้สนับสนุนไม่มีส่วนร่วมกับกระบวนการวิเคราะห์และเก็บข้อมูล)
สำหรับน้อง ๆ หมอนะครับ นี่เป็นการศึกษาที่ดีที่จะฝึกอ่าน เพราะได้ฝึกการคิด non inferiority trial ที่ดี อธิบาย NI margin และ one side error ที่ดี, การศึกษานี้จะต้องมีการคิด intention to treat analysis และ per-protocol analysis แน่นอน เพราะจะต้องมีการตัดคนที่เพาะเชื้อไม่ขึ้นหรือไม่เหมาะสมกับการให้ยาต่อ ทำให้คนที่เริ่มยาตั้งแต่ต้นจะไม่ได้นำมาคิดปลายทาง จะต้องดู drop out rate, ดูเรื่องการคิด safety ที่จะใช้ ITT ตอนแรก และยังมีตัวอย่างการ prespecified subgroup ให้ดูอีกด้วยว่า ผลการศึกษาหลักมันถูกชักนำด้วยผลการศึกษากลุ่มใด น่าสนใจมากเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม