21 กุมภาพันธ์ 2562

กินยามาก ๆ จะมีผลกับตับหรือไต ทำให้ตับวายไตวายหรือไม่

ข้อสงสัยที่คาใจผู้ป่วยมากที่สุด : กินยามาก ๆ จะมีผลกับตับหรือไต ทำให้ตับวายไตวายหรือไม่
แบ่งคำตอบออกเป็นสองกรณี
กรณีที่หนึ่ง โรคที่ผู้ป่วยเป็นไม่ค่อยมีผลต่อตับต่อไต
การใช้ยาอาจจะมีผลต่อตับต่อไตได้จริง แต่ต้องขอย้ำว่าหากใช้โดยไม่ระมัดระวัง เช่น การใช้ยาแก้ปวด NSAIDs ขนาดสูงต่อเนื่องกันโดยไม่ได้มีการปรับยา ไม่ได้มีการแก้ไขสาเหตุ ไม่ได้มีการเฝ้าระวัง หรือการใช้ยารักษาวัณโรคในคนที่มีตับไม่ค่อยดีอยู่แล้ว และไม่มีการเฝ้าติดตามที่ดี
กรณีแบบนี้พบไม่มาก มีทั้งแบบที่คาดเดาได้ว่าจะเกิด มีการเฝ้าระวังและป้องกันที่ดี หรือเป็นแบบแพ้ยาที่ไม่สามารถคาดเดาได้ อาการข้างเคียงต่อตับไตแบบนี้เกิดไม่มากนักเพราะว่ามีมาตรฐานการติดตาม การซักประวัติเสี่ยงก่อนใช้ยา มีการตรวจสอบการใช้ยาโดยเภสัชกร หากแม้เกิดเหตุทั้ง ๆ ที่ป้องกันเต็มที่แล้วก็มีเพียงส่วนน้อยที่จะรุนแรงจริง ส่วนใหญ่จะแก้ไขได้ทัน
ตัวอย่างการเฝ้าระวัง เช่น การใช้ยาฆ่าเชื้อรา Amphotericin B ที่เราทราบว่าอาจจะส่งผลทำให้ไตทำงานบกพร่อง เราก็ทำการให้สารน้ำให้เหมาะสม ให้ยาด้วยขนาดที่ถูก มีการติดตามการใช้ยาและการทำงานของไต หากพบว่าไตเริ่มมีผลกระทบจึงพิจารณาปรับเปลี่ยนยาต่อไป
กรณีที่สอง โรคที่ผู้ป่วยเป็น มีผลแทรกซ้อนต่อตับต่อไต
การใช้ยาในกรณีที่สองจะยิ่งเคร่งครัดกว่ากรณีแรกหลายเท่า ด้วยเหตุที่ว่าตัวโรคเองมีผลแทรกซ้อนพอประมาณอยู่แล้ว การจะใส่ยาที่มีผลกระทบเพิ่มขึ้นจะต้องพิจารณารอบคอบมาก ๆ ใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เช่นผู้ป่วยโรคไตเสื่อม หากมีการใช้ยาลดความดันกลุ่ม ACEI/ARB จะให้เมื่อมีความจำเป็นมาก ๆ เช่นหัวใจวาย และต้องติดตามบ่อย ๆ ตามมาตรฐานการดูแลโรค
และการใช้ยาในโรคที่ส่งผลต่อตับไตอยู่แล้ว เรามักจะเลือกใช้ยาที่ไม่ทำให้ตับไตแย่ลง หรือถ้ายานั้นสามารถช่วยลดอันตรายแทรกซ้อนต่อตับไตด้วยจะยิ่งดี เช่น การใช้ยาลดน้ำตาลกลุ่ม SGLT2i (-gliflozin) นอกจากช่วยรักษาเบาหวานแล้วยังสามารถชลอความเสื่อมโรคไตจากเบาหวานได้ด้วย
ความเป็นจริงที่คนอื่นเห็นว่าเป็นเบาหวาน ความดัน ไขมัน กินยามาก ๆ แล้วไตเสื่อม ตับพัง มันมักจะเกิดจากสาเหตุแบบนี้มากกว่า
โรคที่คุมไม่อยู่ --》 ต้องใช้ยามาก , โรคที่คุมไม่อยู่ --》 เกิดผลแทรกซ้อนต่อตับไต
นำพาไปสู่การสรุปโดยส่งผ่านความผิดให้สารเคมีจากนอกร่างกายว่า
ใช้ยามาก --》 มีผลต่อตับไต !!!!????!!!
กรณีที่สองเป็นกรณีที่พบบ่อยมาก คนไข้จะกลัวว่าแย่ลงจากการกินยาเยอะ มากกว่า กลัวว่าแย่โรคจากโรคควบคุมไม่ได้ ทำให้การขยับการรักษาไปไม่ถึงเป้าหมายโดยง่าย ผมยกตัวอย่างของจริงแล้วกัน มีผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง อายุ 50 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ได้รับยาเบาหวาน metformin วันละสองเม็ด ได้รับยาเบาหวาน glimepiride วันละหนึ่งเม็ด และได้รับยาลดความดัน losartan วันละสองเม็ด วันหนึ่งเธอตรวจ LDL ได้ 167 และ HDL ได้ 37 แน่นอนว่าเธอมีข้อบ่งชี้การลดความเสี่ยงด้วยยาลดไขมัน (เธอมีประวัติครอบครัวเป็นโรคอัมพาตและไขมันในเลือดสูง) ทั้ง ๆ ที่ผลการทำงานของไตของเธอดีมาก แต่เธอเลือกที่จะไม่รับยา statin เพราะเธอกลัวว่ากินยามาก ๆ แล้วจะทำให้ไตวาย !!
เป็นการสูญเสียโอกาสการปกป้องและลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง หลาย ๆ ครั้งความเชื่อมีอิทธิพลมากกว่าความรู้ หลายความเชื่อก็ไม่ผิด หลายความเชื่อก็ดี หลายความเชื่อก็ได้รับการพิสูจน์ว่าดี แต่หากความเชื่อใดได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง และหากเชื่อต่ออาจส่งผลกระทบต่อชีวิต เราก็ควรปรับเปลี่ยนบ้างครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม