17 กุมภาพันธ์ 2562

ส่งต่อสิ่งที่ประชาชนทั่วไปน่ารู้ จากงานวิชาการ cardio cocktail 2019

ส่งต่อสิ่งที่ประชาชนทั่วไปน่ารู้ จากงานวิชาการ cardio cocktail 2019
หนึ่งในงานประชุมวิชาการที่ล้ำสมัยด้วยแนวคิดและเทคโนโลยี ต้องชมเชยผู้จัดจริง ๆ แอบชอบมากตรงที่ไม่มีป้ายชื่อแขวนคอพลาสติก สูจิบัตรกระดาษ เพื่อลดขยะ และเป็นการประชุมวิชาการแรกที่มีการถ่ายทอดสดทางเฟสบุ๊กไลฟ์ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการประชุมเลย
เรื่องราวในงานประชุมมีหลายหลายมาก ทั้งแนวกว้างและแนวลึกของสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก มีเทคโนโลยีและแนวทางการรักษาที่เปลี่ยนไปมาก ในปีนี้เรื่อง preventive cardiology มีข้อมูลมากขึ้นและน่าจะเป็นหลักในการประชุมครั้งนี้ ผมได้สรุปสั้น ๆ และคัดสิ่งที่ประชาชนน่าจะรู้มาให้อ่านกัน รายละเอียดนั้นสามารถค้นได้จากตอนเก่า ๆ ที่เขียนไปแล้วนะครับ
1. การรักษาเบาหวาน ต่อไปจะต้องพิจารณาเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเสมอ ทำให้ยาที่มีข้อมูลสนับสนุนว่าลดอันตรายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย มีบทบาทโดดเด่นและจะต้องใช้ในอนาคตท่านต้องเจอแน่ ๆ คือยากลุ่ม SGLT2i ยาที่ลงท้ายด้วย -gliflozin และยาฉีดกลุ่ม GLP1a ยาลงท้ายด้วย -glutide, -xinatide ถ้าหากเป็นโรคหรือเสี่ยงโรคหัวใจ ควรใช้ยาชนิดนี้ แต่เนื่องจากยายังแพงมาก หากใช้ยากลุ่มเดิมและติดตามดี ๆ ปรับยาจนได้เป้ารักษา ยาเดิมก็ไม่ได้แย่นักและราคาถูกกว่า
2. การให้ยาลดไขมัน เพราะยาลดไขมันมันไม่ได้ลดไขมันอย่างเดียวอีกต่อไป มันช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและลดอัตราการเสียชีวิตด้วย การกินยาเพื่อป้องกันโรคเกิดซ้ำในคนที่เป็นโรคแล้วนั้น ต้องกินแน่นอน ส่วนการกินป้องกันก่อนเกิดโรคจะมีการจัดการความเสี่ยงให้ละเอียดมากขึ้นว่าใครจะต้องกินและใครไม่ต้องกิน ทั้งประวัติ โรคร่วม ระดับ LDL ที่ถือว่าเกินระดับที่รับได้ การทำเอ็กซเรย์หลอดเลือดหัวใจ เพื่อระบุคนที่ควรต้องกินยาที่ชัดเจน จัดสรรตามอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยชรา ลดความอิหลักอิเหลื่อของหมอและคนไข้ เจ้าความอิหลักอิเหลื่อ ความไม่มั่นใจ การไม่ยอมรับนี่แหละเป็นปัญหาสำคัญ แนวทางนี้แสดงให้ชัดขึ้น ทุกคนจะระบุความเสี่ยงได้ละเอียด อีกไม่นานทุกคนจะได้ประเมินความเสี่ยง ระบุว่าเมื่อไรต้องใช้ยา ไม่ใช่เพื่อใช้ยาเพิ่มขึ้นแต่เพื่อลดอัตราตายให้น้อยลงจากเหตุอันพึงป้องกันได้
3. ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ใช่วาร์ฟาริน ขยับมาเป็นยาหลักที่ใช้ป้องกันอัมพาตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ AF อย่างเต็มขั้น จะเว้นแต่ลิ้นหัวใจไมตรัลตีบปานกลางถึงรุนแรงและกลุ่มเปลี่ยนลิ้นหัวใจเท่านั้น นอกนั้นใช้ยากลุ่มนี้หมด เพราะเลือดออกน้อยกว่ามาก ปฏิกิริยาระหว่างยาน้อย แม้ราคายาจะแพงแต่คิดงบประมาณโดยรวมแล้วจะคุ้มค่ากว่า
4. การกินแอสไพรินเพื่อป้องกันโรคหัวใจก่อนจะเกิดโรค แนวโน้มทุกการศึกษาออกมาว่าประโยชน์ไม่ชัดแต่เลือดออกชัด แม้ว่าประโยชน์จะยังเห็นในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานแต่ประโยชน์ไม่มากและเลือดออกพอ ๆ กัน สรุปว่าไม่ให้เป็นอัตโนมัติอีกต่อไปในทุกโรคทุกวัย แต่ให้คุยผลดีผลเสียการรักษาและตกลงกันทุกรายก่อนให้
5. การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจจะมีการทำมากขึ้น มีการใช้มากขึ้นเพื่อประเมินกายวิภาคหลอดเลือดประกอบความเสี่ยง แต่อย่าทำเป็นปกติวิสัย ให้เลือกทำในรายที่จำเป็น มีข้อบ่งชี้ และการทำแล้วมีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาที่ชัดเจน และอย่าลืมว่าถ้าหากเราทำการตรวจพิเศษก่อนการประเมินทางคลินิก บางทีเราอาจจะเจอโรคที่ไม่จำเป็นต้องรักษามากขึ้นก็ได้ เดี๋ยวนี้ทำง่ายและทำได้หลายที่ บางที่ทำเป็นการตลาดวางขายเลย ขอให้ตรองและคิด พินิจก่อนส่งนะครับ
6. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยการเปลี่ยนผ่านสายสวนกำลังนิยมมากขึ้น การศึกษามากขึ้นและขยับมาเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำก็เริ่มเห็นประโยชน์ อีกไม่นานจะไม่ใช่แค่กลุ่มเสี่ยงอันตรายสูงจากการผ่าตัดเท่านั้น อาจจะครอบคลุมไปถึงทุกคนทุกความเสี่ยง ที่มีลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบแคบ ว่าไม่ต้องผ่าตัดอีก ใส่ลิ้นใหม่ผ่านสายสวนมีข้อมูลว่าประโยชน์สูงโทษน้อย อนาคตการผ่าตัดหัตถการต่าง ๆ นั้น ถ้าไม่เปิดถ่างกางจนสุด ก็จะมุดไปถึงจุดผ่านทางรู
และทั้งหมดทั้งสิ้น การเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้เป็นการลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพสูง มีน้ำหนักในการลดความเสี่ยงมากมาย ราคาถูกและไม่มีผลเสีย ต้องทำทุกรายแม้จะยังไม่มีโรคหรือไม่เสี่ยงก็ตาม ได้แก่ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมและลดเค็ม นอนหลับให้เพียงพอและดี กินอาหารให้หลากหลายและครบถ้วน มีอารมณ์แจ่มใส อย่าตึงเครียดมากและหาทางออกหากเครียดโดยเร็ว อาจารย์ทุกท่านกล่าวถึงและทุกแนวทางที่เขียนมีข้ออมตะข้อนี้เสมอ เป็นคำแนะนำระดับประโยชน์ชัดเจนมาก ด้วยคุณภาพหลักฐานระดับการทดลองดี ๆ ทางการแพทย์มารวมกันและสกัดจนได้ข้อสรุปที่ดีออกมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม