16 สิงหาคม 2560

ต้องเจาะเลือด CKMB อีกไหม

ต้องเจาะเลือด CKMB อีกไหม...เพื่อแยกโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ข้อมูลจาก JAMA internal medicine 14 สิงหาคม 2560 น่าสนใจ
จริงๆแล้วคำถามนี้ได้รับคำตอบไปกว่าปีแล้วนะครับ ว่าไม่จำเป็น แนวทางการรักษาทั้งยุโรปและอเมริกา หรือแนวทางทางห้องปฏิบัติการทั่วโลก พูดเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่า "ไม่จำเป็น" ไม่เพียงแต่ไม่จำเป็น ยังมีการศึกษาต่อไปว่าอาจจะเกินจำเป็นเสียด้วยซ้ำ
ในอดีต ค่าเลือด CK-MB หรือ Creatine Kinase - Myocardial Band ถือว่าเป็นการตรวจที่ทรงคุณค่าเนื่องจากมีความเฉพาะเจาะจงกับการบาดเจ็บและการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ และสามารถตรวจจับได้เร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บ เป็นหนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
มีข้อบกพร่องบ้างคือ แม้จะเฉพาะเจาะจงกับกล้ามเนื้อหัวใจ แต่ก็มีโอกาสขึ้นสูงได้กับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อต่างๆในร่างกาย และอาจขึ้นสูงต่อเนื่องถ้าไตเสื่อม
***อ๊ะ..อ๊ะ.กล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บนะ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีกเช่น ซีดมาก หลอดเลือดดำที่ปอดอุดตัน ติดเชื้อรุนแรง กิ๊กไปมีใหม่ ..ต้องอาศัยประวัติอื่นช่วยแยกโรคด้วย***
แต่ก็นั่นแหละ..โลกมันหมุนเร็วขึ้นทุกวัน ชั้นตามไม่ทันแล้ว CK-MB
การพัฒนาการตรวจเลือด cardiac troponin ที่เป็นเอนไซม์ของกล้ามเนื้อหัวใจ ตรวจได้ในภาวะหัวใจบาดเจ็บ...อย่าลืมหัวใจบาดเจ็บ ไม่ใช่แค่ขาดเลือดเท่านั้น ..ขาดความรักก็บาดเจ็บเช่นกัน..ไม่ใช่ละ อาจเกิดจากเหตุอื่นได้อีก
โดยเฉพาะการพัฒนา high sensitivity cardiac troponin I (hsTnI) ที่เร็วกว่า ไวกว่า เฉพาะเจาะจงมากกว่า และมีการศึกษาเทียบกับการใช้ CK-MB พบว่าดีกว่ามากมาย คร่าวๆดังนี้
1.ไวกว่า ไวถึง 92% เฉพาะเจาะจงกว่า เช่นกัน 92% เทียบ 40% ผู้ป่วยหลอดเลือดตีบเฉียบพลัน แบบไม่ตันสนิทนะครับ มีค่า CK-MB ปกติ 25% ... ยกแรก troponin ชนะ
2. ไตเสื่อม CK-MB มักจะขึ้นสูงอยู่แล้ว troponin ก็เช่นกัน และมาเทียบประสิทธิภาพการวินิจฉัย ก็ไม่ต่างกัน...ยกสอง เสมอ
3. เร็วกว่า มีการศึกษาชัดเจนว่าเร็วกว่า และในกรณีขึ้นไม่ตรงกัน คืออันหนึ่งขึ้นอันหนึ่งปกติ ก็พบว่าถ้า troponin ปกติ ต่อให้ CK-MB ขึ้นก็ไม่เปลี่ยนการพยากรณ์โรค...ยกสาม troponin ชนะ
4. พยากรณ์กล้ามเนื้อตีบซ้ำหลังการรักษา แต่ก่อนเชื่อ CK-MB เดี๋ยวนี้การศึกษาและแนวทางเวชปฏิบัติสนับสนุน troponin เพราะมีหลักฐานมากกว่า ..ยกสี่ troponin ชนะ
5. สร้างความสับสน เนื่องจาก CK-MB ไม่เฉพาะเจาะจงกับกล้ามเนื้อหัวใจเท่านั้น มีโอกาสขึ้นสูงได้อีกหลายอย่าง และอีกหลายกรณีที่ไม่ขึ้นทั้งๆที่มีการบาดเจ็บ แพทย์จะสับสนมากกว่าสนับสนุน ..ยกสุดท้ายนี้ CK-MB สะดุดขาตัวเองล้ม ทำให้ troponin ชนะ TKO
สรุปแม้หลักฐานจะชัดเจน และแนวทางการรักษาได้ระบุให้ใช้ hsTnI เป็นหลัก การตรวจ CK-MB ทำเมื่อไม่สามารถตรวจตามปรกติได้ คิดว่าน่าจะลดการตรวจ CK-MB โดยไม่จำเป็นเพราะเป็นการเสียเงินเพิ่มโดยไม่ใช้ประโยชน์มากนัก
แต่ปรากฏว่า การตรวจ CK-MB ไม่ได้ลดลงอย่างที่คิด ยังมีการเจาะตรวจอีกมากในภาวะฉุกเฉินเพื่อวินิจฉัยและแยกโรคหลอดเลือดหัวใจตีน สิ้นเปลืองเงินโดยไม่จำเป็น
การสำรวจในปี 2013 ในแล็บทั่วอเมริกา พบยังมีการตรวจ CKMB 77% อาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายในการวินิจฉัย หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน และสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยที่ไม่เกิดประโยชน์มากขึ้นหลายล้านบาท
แนวทางปัจจุบันของ AHA/ACC และ ESC แนะนำให้ใช้ hsTnI ครับ (ทั้งแบบเจาะตรวจแล้วพบเลยหรือใช้ติดตามเผื่อครั้งแรกยังไม่ขึ้นสูง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม