01 สิงหาคม 2560

ไข้..มันเกิดมาได้อย่างไร และ วัดค่าที่เท่าไร

ไข้..มันเกิดมาได้อย่างไร และ วัดค่าที่เท่าไร ..ปวดใจดังไฟสุมทรวง ถือเป็นไข้หรือไม่
ตัวเลขอุณหภูมิปกติของมนุษย์ได้มาจากการวัดคนหลายๆคนในแต่ละเวลามาหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานตามวิชาสถิติ (แค่เรื่องไข้ก็ยังเป็นวิทยาศาสตร์สถิติ) เรียกว่าถ้านำคนปกติมาวัดอุณหภูมิ ตามมาตรฐาน Harrison Principle of Internal Medicine ใช้การวัดทางปากค่าอุณหภูมิจะแปรปรวนตามเวลา ต่ำสุดประมาณ 36.8 ที่เวลาหกโมงเช้า (พูดถึงคนปรกตินะครับพวกอยู่เวรดึกไม่นับ) สูงสุดประมาณ 14-16 นาฬิกา 37.7
แต่เราก็จะบอกว่าช่วงอุณหภูมิปกติ 36.8-37.7 จะพบได้ 99% ของประชากร ถ้าเกินกว่านี้ก็ถือว่าไม่ใช่ปรกติ โดยทั่วไปจึงถือว่าเป็นไข้เมื่ออุณหภูมิกาย (พอกล้อมแกล้มด้วยการวัดทางปาก) คือตั้งแต่ 37.8 ขึ้นไป
แต่ในบางสถานการณ์เช่น ในไอซียูหรือ ไข้จากเม็ดเลือดชาวต่ำอาจต้องใช้ตัวเลขสูงกว่านั้น เช่น38.3 ทำไม ???
ร่างกายคนเรามีตัวควบคุมอุณหภูมิที่สมองส่วนที่ชื่อว่า "ไฮโปทาลามัส" คอยควบคุมให้คงที่ การทำงานต่างๆของร่างกายจะได้ราบรื่น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ของการอักเสบเกิดขึ้น การอักเสบอาจไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น อาจเกิดจากอุบัติเหตุ ปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกันตัวเอง ก็เกิดไข้ได้ หรือแม้แต่มะเร็งก็มีไข้ได้
ปฏิกิริยาเหล่านี้จะกระตุ้นทำให้ร่างกายหลั่งสารก่อไข้ "pyrogen" หรือสารจากแบคทีเรียบางอย่างก็ทำหน้าที่เป็นสารก่อไข้ได้ สารก่อไข้นี้คือ จดหมาย
จดหมายไปบอกไฮโปทาลามัสว่า กรุณาเร่งอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นหน่อยสิ จะได้กำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือปฏิกิริยาต่างๆได้ถนัดถนี่ขึ้น หรือกลไกการปกป้องร่างกายบางอย่างจะทำงานเมื่ออุณหภูมิกายสูงขึ้น ไฮโปทาลามัสรับทราบและปรับอุณหภูมิที่ตัวเองตั้งไว้ ปรับขึ้น
เมื่อปรับขึ้นแล้ว ก็จะส่งคำสั่งไปตามหน่วยปฏิบัติการต่างๆในร่างกายว่า กรุณาสร้างความร้อนขึ้นเพื่อให้ถึงอุณหภูมิที่ฉันกำหนดด้วย
คำสั่งนี้ไปหลายที่ เช่น ไปที่กล้ามเนื้อให้ "สั่น" เพื่อทำงานสร้างความร้อน สั่งกล้ามเนื้อที่ขุมขนให้ทำงานขนลุก ได้ความร้อน สั่งหลอดเลือดใต้ผิวหนังบีบตัวจะได้ไม่สูญเสียความร้อน สั่งตับให้ทำงานมากขึ้น ไทรอยด์ ต่อมใต้สมอง หัวใจ ทำงานมากขึ้นกมดเพื่อสร้างความร้อน เมื่อสร้างความร้อนได้จนถึงจุดกำหนดก็จะเพลาลง
จะเห็นว่าการสร้างความร้อน ทำให้เกิดไข้ เป็นการปรับการทำงานของร่างกายเพื่อต่อสู้ความไม่ปกติ แม้ว่าไข้จะทำให้เราไม่สุขสบายแต่บางครั้งก็ไม่ได้แย่
คราวนี้เมื่อการกระตุ้นลดลง pyrogen ลดลง ด้วยว่าสิ่งกระตุ้นลดลงเพราะความร้อนของเราไปช่วยกำจัดหรือร่างกายต่อสู้ได้ สมองส่วนไฮโปทาลามัสก็จะส่งคำสั่งไปบอกว่ายุติการปฏิบัติการสร้างความร้อนได้ เพราะปล่อยอุณหภูมิกายสูงนานๆโดยไม่จำเป็นไม่ดีแน่ ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องจะแย่ไปด้วย
สั่นก็จะลดลง ขนไม่ลุก หัวใจช้าลง ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไตทำงานน้อยลง เหงื่อเริ่มออกเพื่อระบายความร้อน หลอดเลือดผิวหนังขยายตัว ปัสสาวะออกระบายความร้อน เราก็จะสบายขึ้นนั่นเอง เรียกว่าไข้ลงแล้วเหงื่อออก ดูมีสีเลือดขึ้น
แต่ถ้าไม่หายเดี๋ยวไข้ก็จะกลับมาใหม่หรือไม่ลดลง ไข้จึงไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไปครับ ใช้ในการรักษาปฏิกิริยา ควบคุมร่างกาย และติดตามอาการได้ดีครับ แต่เนื่องจากมันไม่สุขสบาย ตอนต่อไปเราจะมาดูวิธีลดไข้กันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม