07 สิงหาคม 2560

กรอบแห่งการรักษา

การรักษาที่ดี คือ การคุยกันระหว่างหมอกับคนไข้
หมอที่คนไข้ชอบ คือ หมอที่ยอมทำตามคนไข้
คนไข้ที่หมอชอบ คือ คนไข้ที่ยอมทำตามหมอ
เอาล่ะ..วันนี้ลองพิจารณาอีกแบบ ลองพลิกมุมดูนิดนึง
หมอ : รูมาตอยด์ควบคุมไม่ได้ เพิ่มยาไหม
คนไข้ : ขอก่อนเถอะหมอ ขอแก้ปวดไปก่อน
หมอ : อ่ะๆ ก็ได้
ผล...อีกห้าปีต่อมา มือเริ่มเบี้ยว
คนไข้ : ดิฉันห้าสิบห้าแล้ว อยากคัดกรองมะเร็งลำไส้
หมอ : เฮ่ย อาการยังดีอยู่ ติดตามไปก่อน
คนไข้ : เหรอคะ ก็ได้ๆค่ะ
ผล...พบมะเร็งระยะลุกลามตอนอายุ 65
หมอ : เมื่อไหร่จะคุมอาหาร เบาหวานยังแย่อยู่เลย
คนไข้ : ครั้งหน้านะหมอ งานเยอะ
หมอ : หลายครั้งแล้ว ครั้งหน้าทุกที
ผล...ตามองไม่เห็นจากเบาหวานที่ตา
คนไข้ : พ่นยาแล้วยังหอบอยู่เลย ต้องเพิ่มไหม
หมอ : ใช้ยากินเหมือนเดิมไหม ตัวที่เคยดีขึ้น
คนไข้ : เอ..ก็ดีนะ ไม่ต้องพ่นยาเพิ่ม
ผล...หลอดลมอุดกั้นคงที่ แก้ไขไม่ได้อีก
หมอ : ฉีดยาวัคซีนไข้หวัดใหญ่นะ คุณเสี่ยง
คนไข้ : ฉีดมาหลายปีแล้ว เว้นสักหน่อยได้ไหม
หมอ : เอ้า แล้วแต่ ปีหน้าอย่าลืม
ผล...ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แบบรุนแรง
คนไข้ : ไข้สองวัน เจ็บคอไม่หาย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อหรือ
หมอ : ตรวจดูก็ไม่เป็นติดเชื้อแบคทีเรีย
คนไข้ : กินไปเลยไหม จะได้หายเร็วๆ กันไว้ด้วย
หมอ : ก็ไม่เป็นไร กินเจ็ดวันนะ อย่าขาด
ผล...อีกสิบปี เชื้อดื้อยาหมด
ทางสายกลางเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาเพื่อให้หมอและคนไข้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน แต่ทางสายกลางบางครั้งก็มีกรอบ
กรอบที่แคบยืดหยุ่นได้น้อยก็ต้องยอมรับ ไม่ว่าเป็นการรักษาที่ต้องทำเพื่อประโยชน์หากทำช้าไปหรือผิดไปก็จะเกิดผลเสีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต เวลา ของคนไข้แต่ละคนที่จำกัดต่างกัน กรอบแคบอาจจะปฏิบัติได้ยากแต่ผลไม่แปรปรวนมากนัก
กรอบที่กว้าง ยืดหยุ่นได้มาก มีการปฏิบัติหลากหลายไม่ว่าการเลือกการรักษาหลายๆแบบที่เด่นด้อยต่างกัน หรือ เลือกให้เหมาะสมกับชีวิตของคนไข้แต่ละคน
ศาสตร์แห่งการรักษาคือมีหลายหนทางแต่ละทางมีกรอบต่างกัน ศิลป์แห่งการรักษาคือจะ "เลือก" ทางใดและ "บังคับทิศทาง" อย่างไร
แต่ถ้าหลุดกรอบหรือออกนอกทางบ่อยๆ มันก็ไม่ถึงจุดหมายนะ
ปรัชญาจากทางวิ่งในสวนสาธารณะ แคบบ้าง กว้างบ้าง ขรุขระบ้าง เรียบบ้าง แต่ก็นำพาทุกคนไปที่จุดหมายได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม