07 มีนาคม 2563

วัคซีนไข้เลือดออก ตัวใหม่

วัคซีนไข้เลือดออก ความหวังระลอกต่อไป
ก่อนหน้านี้โลกเราได้รู้จักวัคซีนไข้เลือดออก จากบริษัทซาโนฟี่-ปาสเตอร์ มีที่มาจากกระบวนการพันธุวิศวกรรมกับไวรัสไข้เหลือง ออกมาเป็นวัคซีนไข้เลือดออกที่สามารถครอบคลุมทั้งสี่สายพันธุ์ ข้อบ่งใช้ในอายุ 9-45 ปี เป้าวัตถุประสงค์หลักคือลดความรุนแรงของโรคและลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น และการศึกษาก็ทำได้ตามนั้น แต่เมื่อใช้จริงเกิดปัญหาขึ้นมาหนึ่งอย่างคือ
ในกลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน พบว่าบางส่วนมีอาการไข้เลือดออกที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน ส่วนคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วไม่เกิดปัญหานี้ ถึงแม้คนที่เกิดปัญหานั้นจะไม่ได้เป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรง และผลจากการป้องกันโดยรวมก็ยังดีมาก แต่จุดปัญหาจุดเล็ก ๆ จุดนี้ ทำให้วัคซีนไข้เลือดออกไม่ได้รับความนิยมเท่าที่คาดหวัง คราวนี้เรามีวัคซีนตัวใหม่
บริษัท ทาเคดะ ได้ทำการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกโดยวิธีทางพันธุวิศวกรรมอีกเช่นกัน คราวนี้ใช้แกนของแอนติเจนที่มาทำเป็นวัคซีนคือ ไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่สอง ทำการศึกษาในระยะต่าง ๆ เรียบร้อย และทำการศึกษาทางคลินิกขนาดใหญ่ในหลายประเทศแถบละตินอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก รวมประเทศไทยด้วย ด้วยชื่อ TAK-003 ในการศึกษาชื่อ TIDES ลงตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine และนำผลที่วิจัยต่อเนื่องจากการศึกษาไปอีก นำเสนอในงาน 68th Annual Meeting of American Society of Tropical Medicine and Hygiene
การศึกษานี้ติดตามวัดผลประสิทธิภาพการป้องกัน โดยคิดแยกด้วยว่าติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ใด เคยมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกมาก่อนหรือไม่ และ ความรุนแรงของโรคที่เกิดเป็นอย่างไร เรียกว่าวัดผลครอบคลุมใน painpoint ของวัคซีนตัวแรก ศึกษาในเด็กและวัยรุ่น อันเป็นกลุ่มที่มีโรคและมีปัญหามากสุด โดยแบ่งกลุ่มที่ได้รับ (สองเข็มที่ห่างกันสามเดือน)และไม่ได้รับวัคซีน ติดตามผลที่สิบแปดเดือน ยี่สิบอ็ดเดือนและผลในระยะยาวที่ยังติดตามต่อไป
ผลการศึกษาออกมาว่า ประสิทธิภาพการปกป้องวัดผลที่การเกิดโรคที่ยืนยันผลไข้เลือดออก การปกป้องที่ 18 เดือนคือ 80.2% ส่วนที่ยี่สิบเอ็ดเดือนคือ 73.3% ต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างเห็นได้ชัดและมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่ว่าจะเคยติดเชื้อมาก่อน เคยมีภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออกมากก่อนหรือไม่ ผลออกมาพอ ๆ กัน อันนี้คือผลที่ต่างพอสมควรกับวัคซีนตัวเดิมของซาโนฟี่-ปาสเตอร์
จะแตกต่างอยู่บ้างคือ การปกป้องจะสูงมาสำหรับสายพันธุ์ที่สอง เพราะใช้แกนเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์สอง ระดับ 95% ส่วนสายพันธุ์ที่หนึ่งและสามอยู่ที่ 69.8% และ 48.9% ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ที่สี่ข้อมูลยังไม่พอยังต้องรอการเก็บข้อมูลต่อไป และระดับการปกป้องที่ผิดแปลกออกไปสำหรับคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนและเป็นไข้เลือดออกชนิดสายพันธุ์ที่สาม (ผล vaccine efficacy ติดลบ !!) อันนี้ยังต้องค้นหาคำตอบต่อไป
ผลแทรกซ้อนต่าง ๆ ของวัคซีนถือว่าไม่รุนแรงและไม่ได้ต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้วัคซีนสักเท่าไร
เรียกว่าไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของโลกและของประเทศเราต่อไป ยังคงต้องจับตาดูการพัฒนาวัคซีนและข้อบ่งใช้ที่ทั้งสองบริษัทกำลังพัฒนาออกมามากขึ้น แต่อย่าลืมว่าการฉีดวัคซีนเป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการป้องกันโรคเท่านั้น เราต้องกำจัดลูกน้ำยุงลาย ต้องใช้สารกันยุง ต้องกางมุ้งเพื่อลดโอกาสยุงกัดร่วมด้วย
ถ้ามุ้งไม่พอ ผมแนะนำให้เดินไปที่รัฐสภาครับ แถว ๆ นั้นมีหลายมุ้งทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม