30 มีนาคม 2563

เพื่อความเข้าใจเรื่อง แอนติบอดี ตอนที่หนึ่ง : ภูมิที่อาจไม่คุ้มกัน

เพื่อความเข้าใจเรื่อง แอนติบอดี ตอนที่หนึ่ง : ภูมิที่อาจไม่คุ้มกัน
แอนติบอดีเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง สร้างมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยท์ ทำหน้าที่หลายอย่าง แต่หน้าที่หลักที่สำคัญคือช่วยทำลายสิ่งแปลกปลอม และแอนติบอดีนี้มักจะออกแบบมาเฉพาะกับสิ่งแปลกปลอม เพราะเมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้ามาร่างกายจะทำการเรียนรู้ สร้างระบบป้องกันเฉพาะสิ่งและจดจำ เรียกว่าถ้าแหยมเข้ามาครั้งต่อไปล่ะก็ เจอหนัก !!
เซลล์ที่สร้างแอนติบอดี จะต้องผ่านการอบรมพื้นฐาน ว่าร่างกายเราเป็นแบบใด อะไรที่เป้นป้ายชื่อบ่งบอกว่า นี่เซลล์ร่างกายตัวเองนะ อย่าสร้างแอนติบอดีมาทำลาย หากเซลล์นั้นไม่เข้าเรียน สอบตก ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่ผิดพลาด ไปมองว่าร่างกายตัวเองคือศัตรู ก็จะเกิดการรัฐประหา....ไม่ใช่ล่ะ จะเกิดการทำลายเซลล์ตัวเอง ที่เรียกว่า autoimmune disease เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี
แต่เราห้ามไปเหมาว่า การตรวจเจอแอนติบอดี หมายถึง ฉันมีภูมิคุ้มกัน ฉันแข็งแกร่ง เพราะแอนติบอดีหลายชนิดก็ไม่ได้มีไว้เพื่อทำลายเชื้อโรค ไม่สามารถปกปักรักษาเราได้ แล้วมีไว้ทำมะนาวอะไร...
แอนติบอดีบางอย่างเป็นเพียง marker ให้รู้ว่าร่างกายเราเคยพบพานสิ่งแปลกปลอมนี้มาแล้วนะ ไม่ได้หมายความว่าจะปกป้อง เช่น การตรวจโรคไวรัสตับอักเสบซี เราจะตรวจหา anti HCV แอนติบอดีต่อเชื้อ หากพบว่าเป็นบวก ห้ามไปดีใจว่า เฮ...ฉันมีภูมิคุ้มกันต่อโรค เพราะมันไม่ใช่ protective antibody มันแสดงให้เห็นว่าร่างกายคุณเคยสัมผัสต่อเชื้อ จะเป็นโรคหรือมีเชื้อมากแค่ไหน กรุณาไปตรวจนับปริมาณไวรัสและตัดชิ้นเนื้อหรือทำ Fibroscan ดูด้วย
อีกกรณีคือ การตรวจหา แอนติบอดีต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เกิดไปพบแอนติบอดี anti HIV ผลเป็นบวก ก็อย่าไปตีความว่าคุณรบชนะเอชไอวีมา มันหมายถึงคุณเคยสัมผัสเชื้อมาแล้ว แต่จะป่วยหรือไม่ ติดเชื้อเพียงใด ก็ไปตรวจด้วยวิธีอื่น
แต่แอนติบอดีบางอย่างก็เป็นแอนติบอดีที่ป้องกัน เช่น แอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อันนี้หากพบ เราก็อุ่นใจในระดับหนึ่งว่าเราพอมีภูมิ หรือวัคซีนที่จะฉีดเพื่อปกป้องร่างกายก็ต้องใช้วัคซีนที่สามารถไปกระตุ้นแอนติบอดีที่จะไปทำลายเชื้อ (neutralizing antibody) เช่นไข้หวัดใหญ่เป็นต้น
สรุปว่าการตรวจพบแอนติบอดี ต้องรู้จักชนิดแอนติบอดี ต้องรู้สมบัติเฉพาะของมันด้วย ว่าหากตรวจพบจะหมายความว่าอะไร และถ้าไม่พบจะแปลความว่าอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม