22 มีนาคม 2563

ไวรัสโคโรนา ที่มา

เช้าตรู่วันอาทิตย์ แม้สายการบินหลายสายจะหยุดให้บริการ แต่สายการบินลุงหมอแอร์ยังเปิดบริการตามปรกติ ขอให้ผู้โดยสารหยิบกาแฟร้อนหอมกรุ่น พร้อมกับขนมครกถ้วยโต และมัฟฟินอุ่น ๆ มาจิบพร้อมกับการเดินทางของเรา

ย้อนอดีตไปปี 1965 ปีที่อเมริกายกทัพมาให้เวียดนามบดขยี้ มาตั้งฐานอยู่บนแดนไทย ขนเอาไปทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสามพนมรุ้ง เหลือไว้เพียงบุญรอดและข้าวนอกนา เราย้อนเวลาอย่างเดียวไม่พอ เรายังต้องวาร์ปสถานที่ด้วย

ท่านผู้โดยสารที่รัก ตอนนี้เราบินอยู่เหนือน่านฟ้าประเทศอังกฤษ เราผ่านช่องแคบเข้ามาทางตอนใต้ของเกาะบริเทนใหญ่ ด้านล่างท่านจะเห็นเมืองซอลล์บรี (salisbury) เมืองเก่าแก่ของประวัติศาสตร์อังกฤษเป็นที่ตั้งของโบสถ์แห่งซอลล์บรี ที่ตั้งนาฬิกาแบบปัจจุบันที่ยังทำงานได้และเก่าแก่ที่สุดในโลกและเป็นที่เก็บสำเนาหนึ่งของ Magna Carta ว่ากันว่าคือรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข อันแรกในโลก

ที่นี่ ในปี 1965 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษสองคนได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้น Tyrrell กับ Bynoe ได้ตีพิมพ์การค้นพบของเขาในวารสาร The Lancet ว่าพวกเขาค้นพบไวรัสชนิดหนึ่ง ที่นำมาจากคนที่เป็นหวัดมาเพาะเลี้ยงในเซลล์ต้นกำเนิดหลอดลมมนุษย์ ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคหวัด โรคที่มนุษย์เราเป็นมาช้านาน ทั้งคู่ตั้งชื่อไวรัสนั้นว่า B814 

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีระดับเซลล์รุดหน้าแบบนี้ ไม่ใช่แค่ Tyrrell และ Bynoe เท่านั้นที่ค้นพบ

ข้ามฝากไปฝั่งอเมริกา  ที่ชิคาโก้ ที่อยู่ของฟอสซิลทีเร็กซ์ที่สมบูรณ์ที่สุด นักไวรัสวิทยาสองท่านคือ Hamre และ Procknow ได้ศึกษาและค้นพบไวรัสเช่นกัน ได้มาจากสารคัดหลั่งในจมูกของคนที่เป็นหวัดเหมือนกันเสียด้วย ที่แตกต่างจากไวรัสที่พบทั่วไป เรียกว่า Hamre's virus ลงตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Society for Experimental Biology and Medicine

เจ้าไวรัสทั้งสองนี้สามารถละลายในสารอีเธอร์ได้ เป็นสมบัติที่แปลกกว่าไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่เคยพบ เมื่อมีรายละเอียดมากขึ้นคราวนี้ก็มีคนรายงานมากขึ้น เรียกไวรัสทั้งสองนี้ว่า 229E

 ในปี 1967 McIntosh ได้ตีพิมพ์เรื่องราวของไวรัสทางเดินหายใจที่ไวต่อสารอีเทอร์นี้อีกหลายสายพันธุ์ ในวารสาร Proceedings of the Society for Experimental Biology and Medicine อีกเช่นเคย สิ่งที่พบไล่เลี่ยกัน คุณสมบัติคล้ายกัน โดยไม่ได้นัดหมายเช่นนี้ หรือมันจะเป็นสิ่งเดียวกัน  เหล่านักวิทยาศาสตร์เรียกไวรัสชนิดใหม่ที่ไวต่ออีเธอร์ และโตในอวัยวะเพาะเลี้ยง (ยังไม่สามารถหาวิธีเพาะเลี้ยงในเนื้อเยื่อได้) ว่าไวรัส OC (organ culture) แต่มันจะคือสิ่งเดียวกันหรือไม่ คำตอบคงอยู่ที่ ..

รูปพรรณสัณฐานจากกล้องจุลทรรศ์อิเล็กตรอน ..

กล้องขยายกว่าล้านเท่า ประดิษฐ์ในปี 1937 จากบริษัทซีเมนส์ และเริ่มผลิตออกมาใช้มากขึ้น พัฒนามากขึ้น จนได้ TEM transmission  Electron Microscope ในปี 1939 แต่การวิจัยและผลิตก็หยุดชะงักจากมหาสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่อย่างนั้นเราคงได้ยาปฏิชีวนะเร็วกว่านี้  เมื่อสงครามสิ้นสุด อเมริกามีเงินเหลือมากสุด กลายเป็นเจ้าโลก (โอ้วว) รายใหม่แทนที่ยุโรป กำลังการพัฒนาวิทยาศาสตร์ถึงขีดสุด การส่งคนไปดวงจันทร์ การคิดค้นขีปนาวุธ การรักษาโรค และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

ปลายทศวรรษที่ 1960 ก่อนผมเกิดไม่นาน Tyrrell ได้ของเล่นใหม่คือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน เขาใช้มันเพื่อศึกษา 229E และ OC ต่อเนื่องและได้เห็นหน้าตาชัดเจนของเจ้าไวรัสชนิดนี้ ว่ามันเป็นไวรัสตัวกลม ๆ มีเปลือกหุ้มชัดเจน ส่วนนี้ที่น่าจะไวต่ออีเธอร์ และพบสิ่งที่สะดุดตาอันหนึ่งที่ไม่มีรายงานในไวรัสทางเดินหายใจตัวอื่น Tyrrell พบอะไรงั้นหรือ

ปรกติไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องไปอาศัยทรัพยากรการทำงานของเซลล์ในการอยู่รอดและขยายพันธุ์ (ปรสิตชัด ๆ ) และการจะเข้าเซลล์ใดเซลล์หนึ่งได้ มันจะต้องรู้จัก password ที่จะเจาะเข้าเซลล์ผ่านทางตัวแฮกที่ตัวไวรัส (binding molecules) หลาย ๆ ไวรัสก็มีจุดอ่อนตรงนี้เพราะหากเข้าเซลล์ไม่ได้ ย่อมตายจากไป มนุษย์เราสามารถผลิตยามายับยั้งการเข้าเซลล์ของไวรัสได้ เช่น entry inhibitors ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี 

หมายความว่าต้องรู้จักจุดรับ จุดเกาะ หรือตัวแฮกของไวรัสเป็นอย่างดี และนี่คือสิ่งที่ Tyrrell ค้นพบ เจ้าตัวรับตัวสัมผัสของ 229E และ OC นี้มีลักษณะเป็นแท่งยื่นออกมารอบตัวเต็มไปหมด เหมือนทุเรียนหนามยาว ๆ ที่ปลายหนามมีเม็ดโฟมติดอยู่ทุกซี่หนาม ... แต่กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบทะลุทะลวงนี้ มันจะแสดงให้เห็นภาพตัดขวางเท่านั้น

คุณไปคว้ามีดยาว ๆ คม ๆ มาเลย ตัดฉับทุเรียนตามแนวขวางเป็นแว่น ออกมาหนึ่งแว่น โยนเศษเนื้อทุเรียนไปให้แอดมิน infectious ง่ายนิดเดียว เราเอาแต่เปลือกมาดู รูปร่างมีรัศมีออกมาแบบนี้ มันคือ มงกุฏชัด ๆ งั้นขอเรียกชื่อไวรัสชนิดนี้ขึ้นมาใหม่ ตั้งชื่อเป็น genus ใหม่เลย ขื่อว่า Corona Virus นั่นเอง

เมื่อความลับถูกเผย คราวนี้มีการศึกษามากมายถึงไวรัสโคโรนานี้ว่า รับผิดชอบโรคหวัดถึง 35% ของเชื้อทั้งหมด แถมยังมีอีกหลายสายพันธุ์  ในช่วงเวลานี้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเริ่มทำสำเร็จ การตรวจหาสารพันธุกรรมกรดนิวคลีอิก ทั้ง DNA และ RNA เริ่มมาเปลี่ยนความรู้บนโลก เราจึงได้เรียนรู้ว่า Corona มีหลายสายพันธุ์และระบุได้ชัดเช่น 229E OC43 (NL63 และ HKU1 พบทีหลัง) และสายพันธุ์อื่น ๆ อีกเยอะ .. แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น

เริ่มมีการค้นพบและระบุ corona ที่อยู่ในสัตว์มากมาย ก่อโรคในสัตว์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น หนู หมู ไก่ หมา และก่อโรคทั้งตับอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นหวัด เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไข้สมองอักเสบ ไม่ว่าจะติดเชื้อเองหรือถูกฉีดเชื้อเข้าไปในรูปนำมาทดลอง เป็นสัตว์ทดลอง ... และแล้ววันหนึ่งผลกรรมก็มาเยือนมนุษย์

แว้บบบ...มาถึงปี 2001 เลยมิลเลนเนียมมาหนึ่งปี ปีแรกของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด  ณ เวลานี้ได้เกิดโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาที่เราไม่เคยพบมาก่อน ทั้ง ๆ ที่เราระบุสายพันธุ์ได้อย่างมากมายแล้ว โรคนี้เกิดทางใต้ของจีน สืบไปสืบมาเพื่อหาต้นตอ พบว่ามาจากตลาดค้าสัตว์ป่าในจีน น่าจะระบาดจากสัตว์สู่คน ซึ่งต่อมาลุกลามจากคนสู่คน กลายเป็นโรคติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจที่มฤตยูมากในยุคนั้น ใช่แล้วครับ โรค SARs อันน่าสะพรึงกลัว 

โดยสัตว์ที่ต้องสงสัยตัวแรกคือค้างคาว แน่นอนว่าคนที่ติดเชื้อคนแรกน่าจะเป็น บรูซ เวย์น ไม่ใช่ล่ะ... แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ใช่ค้างคาว การค้นหาทำอย่างต่อเนื่องเพื่อหาต้นตอที่มา จะได้รักษาได้แม่นยำ จนพบว่าต้นตอของไวรัสตัวนี้ที่แท้จริงมาจาก Himalayan palm civet ชะมดชนิดหนึ่งในจีน ที่ถูกจับมาค้าขายในตลาดอย่างทารุณ

ฤาเราข้ามเส้นสมดุลของธรรมชาติแล้ว  ธรรมชาติส่งชะมดน้อยตัวนี้มาเตือนมนุษย์  หวังว่ามนุษย์คงหยุด "ข่มขืน" ธรรมชาติ

แต่ว่าประวัติศาสตร์เดินย้อนกลับมารอยเดิมอีกครั้งในปี 2019 

ที่ตลาดค้าสัตว์ป่าเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ไวรัสตัวหนึ่งได้หลุดลอดออกมาจากสัตว์ชนิดหนึ่ง แทรกซึมเข้ามาในคนที่เดินในตลาดนั้นอย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางความชื่นมื่นของคน ที่เข้ามาเลือกซื้อสัตว์แปลก ๆ ไปกินในช่วงปีใหม่และตรุษจีน 

ไวรัสตัวนี้มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ใครจะรู้ว่าอีกไม่นาน เจ้าไวรัสพันธุ์ใหม่นี้มันจะทำลายความเชื่อมั่นและศรัทธาของมวลมนุษย์ไปทั้งโลก ตลอดไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม