06 กรกฎาคม 2560

ยาลดกรด proton pump inhibitor เพิ่มอัตราการเสียชีวิต !!

สามวันมานี้ สำนักข่าวต่างประเทศทั้ง CNN และ Guardian รวมทั้งเว็บไซต์ medscape ลงพาดหัวพร้อมๆกันว่า ยาลดกรด proton pump inhibitor เพิ่มอัตราการเสียชีวิต !!
เอาละสิ..เราตกใจไหม ยาลดกรดชนิด prazole เป็นยาที่เราใช้มากจริงๆในปัจจุบันทั้งการรักษาแผลในกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะ กรดไหลย้อน ป้องกันเลือดออก ยาเทียบนั้นราคาถูกมาก ประสิทธิภาพในการลดกรดสูงมากและผลข้างเคียงต่ำ เราใช้กันมานาน...ต่อมา...
เราเริ่มพบข้อจำกัดของการใช้ยามากขึ้นๆ ตามเวลาที่หมุนไป ตั้งแต่ ปฏิกิริยาระหว่างยาโดยเฉพาะกับยาต้านเกล็ดเลือด clopidogrel, เพิ่มโอกาสการเกิดกระดูกหักโดยเฉพาะกระดูกสะโพก เพราะการดูดซึมแคลเซียมและฟอสเฟตที่ผิดปกติ, การเกิดแบคทีเรียในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากกว่าปรกติ เพราะไปรบกวนสภาวะกรดด่าง, เพิ่มความเสี่ยงโรคไตเสื่อม, เกิดตุ่มเนื้อของต่อมฟันดิก (fundic gland polyps)
สำหรับการป้องกันแผลและเลือดออกจากยาแอสไพรินและ NSAIDs ก็มีที่ใช้มาตลอด เพราะผู้ป่วยสูงอายุก็ต้องใช้แอสไพรินมากขึ้น ยิ่งสองการศึกษาล่าสุดทั้ง PRECISION และ CONCERN ที่แนะนำว่าการใช้ ยาลดกรดคู่กับยาต้านการอักเสบ cox-2 ปลอดภัยมากขึ้น ใช้ได้มากขึ้น โอกาสการใช้ PPI มากขึ้น
ล่าสุดแนวทางการให้ยา PPI ของแคนาดา ได้ประกาศออกมาว่า กรุณาใช้ PPI ให้สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง และในสถานการณ์ทั่วไปก็ใช้ไม่เกิน 6-8 สัปดาห์ และเคยมีการศึกษาเริ่มเอายาเดิม famotidine เอามาใช้เพื่อป้องกันเลือดออกก็ใช้ได้ดี
และล่าสุดสามวันมานี้ ข่าวเรื่อง อาจเสียชีวิต..เพิ่มโอกาสเสียชีวิตออกมา ต้นข้อมูลคือวารสารจาก british medical journal (ข้อมูลผลเสียของ PPI ส่วนมากก็มาจากวารสารนี้) ทำการศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้า รวบรวมข้อมูลการใช้ PPI ติดตามไปประมาณห้าปี เทียบอัตราการเสียชีวิตโดยรวม...ไม่ได้แจกแจงว่าจากสาเหตุใด...ว่าแตกต่างจากไม่ใช้ยา หรือใช้ยาลดกรดที่แรงน้อยกว่า อย่างเช่น H2 blocker หรือไม่
การศึกษาแบบนี้บอกได้แค่ "ความสัมพันธ์" ที่เกิดขึ้นทางสถิตินะครับ ไม่ได้เกิดจากการทดลองเพื่อหาคำตอบตรงๆ หรือไม่สามารถแปลความเป็นเหตุเป็นผลกันได้
ผลการศึกษาออกมาว่า ในผู้ที่ใช้ยา ProtonPump inhibitor นั้นเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆมากกว่าไม่ใช้ยา หรือใช้ยาลดกรดกลุ่มเก่า เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ว่า...ขนาดการเพิ่มนิดเดียวเท่านั้น และยิ่งใช้นานยิ่งเสี่ยงมาก
ด้วยความที่ไม่ได้แจกแจงโรคที่ชัดเจน มีตัวรบกวนการศึกษามาก โรคร่วมอื่นๆก็มาก ไม่ได้มีการคำนวนแบบแยกส่วนที่ชัดเจน กลุ่มประชากรก็อายุประมาณ 60 ส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาวในอเมริกา ... ทำให้การศึกษานี้ตอบคำถามแต่ ประชากรที่วิจัยและข้อคำถามที่ตั้งไว้เท่านั้น
..
..จะไปแปลความยิ่งใหญ่กว่านี้ ไม่ได้
..จะไปเหมารวมทุกคน ไม่ได้
..จะทำให้เลิกใช้ยา ไม่ได้...ข้อมูลยังไม่ชัดเจนขนาดนั้น
ประโยชน์ของยายังมากมาย ถ้าเราบวกลบคูณหาร ประโยชน์และโทษ ราคา ความเสี่ยง แล้วคิดว่าได้ประโยชน์ ก็ให้ยาครับ
อ้าว...แล้วทำมาเพื่ออะไร ได้อะไร
แหม..จิ้งจกทักยังฟัง งานวิจัยระดับนี้จะไม่ฟังได้ไง ผมสรุปว่า ข้อมูลออกมาสนับสนุนว่า ไม่ควรใช้ยาแบบพร่ำเพรื่อ ใช้ยาเป็นปกติวิสัย แต่ให้ใช้ยาอย่างมีเหตุผล มีสติ มีข้อบ่งใช้ มีระยะเวลา เมื่อสิ้นสุดความจำเป็นก็ให้หยุด
สิ่งที่เราคิดว่าปลอดภัยเมื่ออดีต เวลาผ่านไปก็มีข้อมูลการศึกษาต่างๆออกมา ทำให้การตัดสินใจใช้ยา ข้อควรระวังต่างๆ ก็มีออกมามากขึ้น ในอนาคตน่าจะมีงานวิจัย การศึกษาออกมามากขึ้น และรวบรวมงานวิจัยดีๆเหล่านั้นเป็นระบบ เราก็จะได้ความจริงและข้อแนะนำใหม่ที่เป็นประโยชน์มากขึ้นครับ
ก่อนจะเชื่ออะไร..ต้องพิจารณาให้ครบถ้วน รอบด้านครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก สำนักข่าว อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว
จบข่าว...ไปดื่มกาแฟล่ะนะ..บาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม