14 กรกฎาคม 2560

หายใจไม่สัมพันธ์กับเครื่อง

เมื่อผู้ป่วยสามารถเข้ากันได้กับเครื่องช่วยหายใจ ณ ไอซียูที่เดิม
อาจารย์ครับ ผู้ป่วยรายนี้หายใจไม่สัมพันธ์กับเครื่องครับ เราจะทำอย่างไรดีครับ..ศิษย์รักถามอาจารย์อย่างฉงน
อาจารย์ทำหน้าเคร่งขรึม “มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ คุณควรจะกล่าวว่าเราปรับเครื่องไม่เข้ากับผู้ป่วยต่างหาก เพราะหากคุณเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วคุณจะพบว่า การช่วยหายใจมันลึกซึ้งมาก”
“มันเป็นอย่างไรหรือครับ รบกวนท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะ” ลูกศิษย์เริ่มเล่นมุกใส่
อาจารย์เริ่มร่ายยาว ...คือแบบนี้ การปรับแต่งเครื่องให้เข้ากับคนไข้เพื่อช่วยเขานั้น ก็เปรียบเสมือนบุรุษอย่างเราดูแลสตรีเพศ หากเข้าใจดีเราก็จะมีสันติสุข อันว่าการไม่เข้ากับเครื่องนั้น ก็มีปัจจัยสามประการ เหมือนกับการใช้ชีวิตคู่ นั่นคือปัจจัยภายในของเราเอง คือความสามารถในการปรับเครื่อง ปัจจัยของคนไข้เปรียบเสมือนสตรีเพศ และปัจจัยสิ่งแวดล้อมก็เปรียบเสมือน เรื่องนอกบ้านที่ไม่ควรนำมาใส่ใจ
“โห..ท่านอาจารย์ช่างลึกล้ำ” ศิษย์เริ่มเลื่อมใส
..อย่างแรกจัดการปัจจัยนอกบ้านก่อน จัดการง่าย เห็นชัด เช่นเงินทอง กิ๊ก เพื่อน บอล เกม พวกนี้จัดการง่ายๆสิวๆ เทียบกับเรื่องของเราก็สายอากาศหักงอ มีเสมหะ มีน้ำในระบบ ลมไม่พอ ต่อท่อพ่นยา ท่อลมรั่ว พวกนี้ตรวจสอบง่ายแก้ไขง่าย
..ต่อมาก็พิจารณาปัจจัยฝ่ายคนไข้ คือ อิสตรี อันนี้เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา อารมณ์ ความรู้สึก ขี้งอน จะไปหักฝืนมิได้ จำต้องค่อยๆปรับเปลี่ยนอย่างละมุนละม่อม ก็เปรียบเสมือนภาวะโรคของผู้ป่วย ก็ต้องมีความเข้าใจว่าแต่ละโรคมีลักษณะอย่างไรซึ่งต่างกัน ถุงลมโป่งพองจะมีความดันหลอดลมสูง มีลมอุดกั้น ก็ต้องรู้ถ่องแท้ หรือเป็น ARDS ถุงลมไม่ขยายต้องใส่ PEEP ใช้ปริมาณลมน้อยๆ ซึ่งเราต้องค่อยๆรักษาโรคให้ดีขึ้น โรคจะดีขึ้นเร็วอย่างที่เราต้องการไม๊..ไม๊...เสียงอาจารย์สั่นเครือ
“ท่านอาจารย์ เกิดอะไรขึ้น” ศิษย์เห็นท่าไม่ดี น้ำตาอาจารย์เริ่มรื้น ใบหน้าหม่นหมอง
“ ไม่มีอะไร อาจารย์แค่ตะเตือนไต .. ไม่..โรคไม่เคยดีขึ้นเร็วอย่างที่เราต้องการ ..เฉกเช่นอิสตรีเช่นกัน” อาจารย์สะอื้นฮึก
“แล้วปัจจัยเกี่ยวกับตัวเราเล่าครับ มันคืออะไร” ศิษย์ถามถึงปรัชญาข้อสุดท้าย
อาจารย์สงบใจแล้วบอกไปว่า “ข้อสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด หลังจากที่เรากำจัดสิ่งนอกบ้านและทำความเข้าใจคนไข้แล้ว เราก็ต้องมาปรับเครื่องช่วยหายใจให้เข้ากับสภาพโรคที่เป็นโดยใช้ความรู้เรื่องกลศาสตร์การหายใจ ให้เข้ากับโรคกับคนไข้มากที่สุด ให้เขาสบาย เปรียบดั่งบุรุษผู้ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอันใด จำต้องอดทนยอมรับธรรมชาติแห่งอิสตรี และปรับตัวเองให้เข้ากับอิสตรีเพื่อให้ชีวิตมันราบรื่น”
อาจารย์มองฟ้า ตาเป็นประกายแล้วบอกอีกว่า “ไม่เพียงเท่านี้ การปรับต้องปรับทุกวันจนกว่าโรคจะดีขึ้น เปรียบเสมือน บุรุษก็ต้องยอมทนปรับสภาพตัวเองทุกวัน ตามแต่พายุและบรรยากาศแห่งอารมณ์ของอิสตรี”
“สุดยอดมากอาจารย์ ศิษย์เชื่อแล้วว่าชีวิตก็คือตำรา” ลูกศิษย์ซูฮกอย่างหมดใจ แล้วถามว่า
งั้นเราให้ยาสลบคนไข้แล้วช่วยหายใจจนกว่าโรคจะดีขึ้นได้ไหมครับ คนได้ไม่มีปัญหา...แต่ว่าอาจารย์ก็ห้ามปราม “คุณอย่าคิดจะทำเชียวนะ มันไม่ใช่วิถีแห่งการรักษาและถ้ามาใช้ในชีวิตจริงก็คงบาดเจ็บมิน้อย อาจารย์หมายถึง..พวกเราที่จะบาดเจ็บ
ศิษย์ยิ้ม...ขอบคุณอาจารย์มากครับ เคล็ดลับวิชาที่ท่านอาจารย์ทำลิงค์มาให้ด้านล่าง เมื่อเข้าใจหลักการแล้วอ่านต่อคงไม่อยาก
“ยังมีอีกเรื่องที่การปรับเครื่องต่างจากชีวิตจริง คือเราปรับเครื่องให้คนไข้สบายเมื่อเขาดีขึ้นเราก็หย่าเครื่อง แต่ในชีวิตจริง...เมิง..หย่า..เมิง..ตาย” อาจารย์ทิ้งท้ายแล้วร้องไห้ เดินจากไป พร้อมอาวุธประจำพรรคพ่อบ้านใจกล้าอันลือลั่น..ไม้แขวนเสื้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม