21 กรกฎาคม 2560

ภาวะหายใจล้มเหลว

สถานการณ์ตัวอย่าง : เช้าวันหนึ่ง แอดมินเพจสองล้านรายหนึ่งไม่ระบุชื่อ มีรูปหน้าเพจเป็นรูปนกสีเหลืองๆตาไม่เท่ากัน(ไม่เจาะจงว่าใคร) ตื่นเช้ามาอย่างเกียจคร้านแล้วเดินเข้าห้องน้ำเพื่อบรรเทาทุกข์ แต่อนิจจา !! ในโถชักโครกมีงูจงอางตัวดำเมี่ยม กำลังรอเหยื่ออยู่ เมื่อแอดมินเพจรายนั้นปลดกางเกง แล้วหย่อนก้นลงโดยไม่ทันระวัง สิ่งที่เกิดขึ้น...หงับบบบ
คุณคิดว่าจะเกิดอะไร
ก. แอดมินผู้นั้นกระโดดหลบทัน หันมาด่างูจนงูอายและหลบไป
ข. งูพยายามฉกเต็มที่แต่หาได้โดนอวัยวะเป้าหมายไม่ เพราะเล็กเกินกว่าจะเล็งได้
ค. โดนเต็มๆ แต่แอดมินผู้นั้นไม่เป็นไร งูกลับชักกะแด่วๆตาย เพราะพลัง karakini
ง. แอดมินถูกหามส่งไอซียู เพราะเริ่มหายใจล้มเหลว
ใช่แล้ว วันนี้เรามาทำความรู้จักภาวะหายใจล้มเหลวกัน ภาวะหายใจล้มเหลวที่เราเคยได้ยินแปลง่ายๆคือหน้าที่การทำงานของระบบหายใจมันทำไม่ได้ หน้าที่นั้นคือการนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือดที่มาจากหัวใจห้องล่างขวา และบรรจุออกซิเจนเข้าไปแทนและนำส่งหัวใจห้องบนซ้ายเตรียมส่งออกต่อไป
เราแบ่งความล้มเหลวออกเป็นสี่ประการเพื่อบอกลักษณะที่เกิดและวิธีแก้ไข
กลุ่มแรก ระดับออกซิเจนลดลงจนไม่เพียงพอ เช่น มีน้ำในถุงลมจากหัวใจวาย มีหนองและสารอักเสบจากปอดบวม ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ปอดแฟบ พื้นที่การแลกแก๊สลดลง ก็จะตรวจพบความดันออกซิเจนในเลือดแดงต่ำ การรักษาคงต้องเพิ่มปริมาณและแรงดันออกซิเจนเข้าไปในระบบหลอดลมและปอด เช่น ให้ออกซิเจน ใส่เครื่องช่วยหายใจ (สำหรับน้องๆหมอ ควรหาอ่านเรื่อง high flow oxygen นะครับ)
กลุ่มที่สอง ระดับคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากจนเป็นพิษ เช่น กล้ามเนื้อหายใจไม่ทำงาน (อย่างแอดมินเพจรายนี้) โรคระบบประสาทและสมองที่ทำให้แรงขับเคลื่อนการหายใจลดลง หรือ ถุงลมโป่งพอง โรคกลุ่มนี้การใส่ออกซิเจนให้เลือดยังดี แต่ว่าไม่มีแรงพอจะปั๊มแก๊สเสียออก หรือแก๊สเสียคั่ง ก็จะพบความดันคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดแดงสูง แต่ออกซิเจนปกติดี การรักษาโดยมากต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อใส่แรงดันเข้าไปในปอดให้มากพอที่จะไปปั๊มแก๊สเสียออกมาได้ ลองใส่แบบหน้ากากก่อน ส่วนแบบใส่ท่อใช้เมื่อจำเป็น (น้องๆไอซียู อีอาร์ ต้องศึกษาและเรียนรู้ non invasive ventilator)
กลุ่มที่สาม เกิดระหว่างการผ่าตัดจากการดมยาสลบหรือผ่าตัดช่องท้องส่วนบนที่อาจเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อกระบังลม กล้มเนื้อหลักที่ใช้ในการหายใจ ภาวะนี้มักดีขึ้นหลังจากมีการจัดการช่วยหลังผ่าตัด แผลผ่าตัดดีขึ้น ยาดมสลบเริ่มหมดฤทธิ์ มีการกายภาพบำบัดทางเดินหายใจเพื่อระบายเสมหะ การช่วยเหลือก็ต้องใช้ร่วมกันทั้งวิธีที่หนึ่งและสอง แต่เนื่องจากเป็นไม่นาน หายเร็ว จึงไม่ค่อยมีปัญหานัก..ถ้าเตรียมตัวก่อนและหลังผ่าดีๆ
กลุ่มที่สี่ เกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ ไหลเวียนล้มเหลว จำได้ไหมปอดรับเลือดจากหัวใจห้องล่างขวาและส่งคืนไปที่หัวใจห้องบนซ้าย เรียกว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบบไหลเวียนโลหิตเลย เมื่อระบบหัวใจล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นด้านขวาหรือด้ายซ้ายหรือสองด้านเลย ย่อมส่งผลต่อการส่งเลือดและรับเลือดของปอด ก็จะล้มเหลวได้เช่นกัน เราจัดกลุ่มนี้ที่พบบ่อยๆสองโรคคือ cardiogenic shock และ septic shock ทั้งสองโรคนี้มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดทั้งสิ้นแล้วไปส่งผลต่อการหายใจ
การรักษาจึงต้องรักษาโรคต้นกำเนิด การดูแลทางเดินหายใจเป็นแค่เรื่องรองเท่านั้น ต่างจากสองชนิดแรกที่ความผิดปกติหลักอยู่ที่ระบบทางเดินหายใจ
คร่าวๆนะครับ เอาไว้ถ้าแอดมินเพจสองล้านนั้นซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าใคร รอดจากพิษงูมาได้ (งูอะไรก็ไม่รู้ ตาสีคล้ำ อดนอนแน่ๆ) จะมาเล่าเรื่องว่า ถ้าอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ full option ICU เราจะแยกโดยใช้เครื่องมือง่ายๆ และ ช่วยง่ายๆได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม