22 กรกฎาคม 2560

ใส่ท่อช่วยหายใจมันเลวร้ายขนาดนั้นเลยหรือ ?

ใส่ท่อช่วยหายใจมันเลวร้ายขนาดนั้นเลยหรือ ?
หลังจากที่เราได้รู้แล้วว่าภาวะหายใจล้มเหลวเราคงต้อง "ช่วยหายใจ" โดยใช้เครื่องช่วยหายใจ แล้วเครื่องช่วยหายใจจะช่วยอย่างไร ก็คือต้องใส่ลมเข้าไปในปอดด้วยจังหวะ แรงลม เวลา ที่เหมาะสมจึงช่วยได้
แต่อยู่ดีๆ ลมจากเครื่องจะเข้าตัวคนไข้ได้อย่างไร
ก็สามารถเข้าได้สองแบบ แบบแรกคือ ไม่มีท่อรุกล้ำเข้าไปในตัว เช่นการใช้หน้ากากออกซิเจน การใช้ออกซิเจนแบบสายจมูก ก็จะเป็นท่อที่มาประกบกับร่างกายส่วนนอกครับ ไม่เจ็บตัว แนวทางการรักษาแบบนี้เริ่มมีการศึกษามากขึ้นและการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้เราก็ช่วยหายใจโดยใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างเดียว
อย่างที่สองคือต้องใส่ท่อเข้าไปในทางเดินอากาศ ไม่ว่าจะเป็นท่อใส่ทางปากเข้าไปหลอดลม ทางจมูกเข้าไปหลอดลม เจาะคอ แบบนี้ก็จะใช้ในกรณีใช้แบบแรกไม่ได้ หรือมีข้อระบุการ "ใส่ท่อ" ร่วมด้วย
จะสังเกตว่าการใส่ท่อ กับ การใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่าในคนไข้หนักสภาพร่างกายอาจไม่ไหวที่จะหายใจเองและรักษาทางเดินหายใจให้โล่งด้วย ก็ต้องใส่ท่อเพื่อรักษาทางเดินหายใจให้โล่งพอ และต่อกับเครื่องช่วยหายใจ
ในบางกรณี เราแค่ต้องการใส่ท่อเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาทิ ดูดเสมหะ กล้ามเนื้อกล่องเสียงพิการ มีก้อนหรือหนองไปกดเบียดท่อทางเดินหายใจ กลไกการหายใจคนไข้ยังดีอยู่ บางครั้งเราก็ใส่ท่ออย่างเดียว เพื่อเปิดทางเดินหายใจโล่ง (แต่จริงๆคนไข้ก็จะเหนื่อยจากการใส่ท่อนะครับ)
ทำไมการใส่ท่อจึงทรมาน อย่างแรกก็เจ็บ รำคาญ พูดไม่ได้เพราะมันคายันสายเสียงเอาไว้ กินอาหารไม่ได้ อย่างที่สองคือ กลไกการป้องกันเชื้อเข้าปอดตามธรรมชาติหายไปหมด เป็นการบายพาสเชื้อโรคเข้าปอดตรงๆ อย่างสุดท้ายเลยคือ การหายใจผ่านท่อเล็กๆ ซึ่งมีแรงต้านลมสูงจะทำให้ลมเข้าลำบากต้องออกแรงหายใจมากขึ้น
สุดท้ายถ้าเราใส่ท่อเอาไว้นานๆ สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปแทรกในหลอดลม คือ ท่อช่วยหายใจ จะไปกดเนื้อเยื่อทำให้หลอดลมตีบแคบเป็นพังผืดและกระดูกอ่อนถูกทำลาย เวลาถอดท่อช่วยออก หลอดลมก็ไม่สามารถคงรูปได้ ตีบแคบ สุดท้ายก็ต้องเจาะคอ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวปัจจุบันเราจึงเลือกวิธีช่วยหายใจที่ไม่ต้องใส่ท่อก่อน ถ้าล้มเหลวค่อยใส่ท่อหรือถ้าจำเป็นต้องรักษาทางเดินหายใจให้คงที่ ดูดเสมหะ หรือข้อบ่งชี้ จึงใส่ท่อ
และเมื่อใส่ท่อแล้ว เราก็จะพิจารณาการเอาท่อออกเมื่อพร้อม (คนละอย่างกับการเอาเครื่องช่วยหายใจออกนะครับ)
สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายหรือโรคที่ร้ายแรง การใส่ท่อหายใจแม้จะดูเจ็บปวดและเราก็ไม่อยากให้ทรมานหรือคนไข้ไม่อยากใส่ แต่ถ้ามาคิดอีกมุมหนึ่ง ภาวะปัจจุบันหรือ โรคเฉียบพลันที่จำเป็นต้องใส่ท่อ บางทีก็ใส่ไม่นานเพื่อช่วยคนไข้เมื่ออาการดีเราก็ถอดออก ทำให้คนไข้พ้นจากการเจ็บป่วยปัจจุบันไปได้
การใส่ท่อช่วยหายใจในแต่ละครั้งแต่ละโอกาส ไม่เหมือนกันเลย ควรคุยกันถึงวัตถุประสงค์และเวลาในการช่วยในแต่ละครั้ง ผลดีผลเสียแต่ละครั้ง อย่าเพิ่งคิดว่าการใส่ท่อจะหมายถึงแย่มากจนเสียชีวิตเสมอไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม