แนวทางการรักษาเบาหวานของ international diabetes federations แนวทางที่มีสัดส่วนประชากรเอเชียมากกว่าที่อื่นๆ ออกคำแนะนำใหม่ล่าสุด โดยรวมๆแล้วไม่ต่างจากเดิมมากนัก ผมคัดเอาไฮไลท์มาเขียนนะ
1. การคัดกรองจะทำกับผู้ที่เสี่ยง และแม้การคัดกรองเป็นลบคือไม่เป็นเบาหวาน ก็ต้องคัดกรองซ้ำในทุกๆสองถึงสามปี ส่วนผู้ที่เสี่ยงนั้น ขึ้นกับแนวทางของแต่ละประเทศ
2. การวินิจฉัยเบาหวาน ใช้วิธีเดิม ค่าเดิม ค่าน้ำตาลขณะไม่มีแคลอรี่อย่างน้อย 8 ชั่วโมงเกิน 126 (คือดื่มน้ำมาตรวจได้นะครับ งดแต่อาหารและน้ำหวาน) ค่าน้ำตาลสุ่มเวลาในผู้ที่มีอาการมากกว่า 200 ค่าน้ำตาลหลังกินน้ำตาล 75 กรัมเป็นเวลาสองชั่วโมง เกิน 200 หรือค่า HbA1c มากกว่า 6.5
3. เป้าหมายการรักษา HbA1c น้อยกว่า 7 หรืออาจพิจารณาน้อยกว่า 8 ในผู้ที่มีโรคร่วมมากๆและอาจอันตรายจากน้ำตาลต่ำ แนะนำตรวจน้ำตาลปลายนิ้วในรายที่ใช้อินซูลินหรือยาเม็ดกลุ่ม Sulfonylureas (กลุ่ม gli- )เพราะอาจเกิดน้ำตาลต่ำได้
4. การควบคุม..ย้ำควบคุมนะ ไม่ใช่อด เป็นสิ่งที่ต้องทำและสำคัญมากให้ได้พลังงานเพียงพอ ไม่เกิน เน้นอาหารไฟเบอร์สูงด้วย ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ งดใส่เครื่องปรุงและเติมเกลือเพิ่มในมื้ออาหาร ลดน้ำหนักตัวถ้าน้ำหนักเกิน
5. เริ่มยา metformin ก่อนโดยใช้ได้แม้แต่ไตเสื่อมไม่มาก ยกเว้น GFR น้อยกว่า 30 ให้งด ปรับขนาดจนได้เป้าก่อนจึงเริ่มยาตัวที่สอง จะเริ่มใช้ยาสองตัวก็ได้ถ้าเริ่มด้วย A1c สูงๆ (7.5-9%) ยาตัวที่สองใช้ตัวใดก็ได้ sulfonylureas (ยกเว้น glibenclamide) หรือ DPP4 (-gliptin) หรือGLP1a (-glutide, -natide) หรือ SGLT2 (-gliflozin) ในชาวเอเชียจะตอบสนองต่อ DPP4 และ GLP1a ดีกว่า และถ้ามีโรคหัวใจ อาจเลือก SGLT2 หรือ GLP1a
6. อินซูลิน แนะนำ basal insulin ก่อน คือให้อินซูลินควบคุมพื้นฐานทั้งวันก่อน ถ้าไม่ไหวคุมไม่ได้ค่อยให้อินซูลินคุมรายมื้ออาหาร (หรือใช้แบบผสม) ใช้อินซูลินคู่กับยากินได้ และเมื่อใช้อินซูลินก็ระวังน้ำตาลต่ำ
7. ความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 ถ้าอาจเกิดอันตรายจากความดันต่ำเกินหรือสูงอายุ อาจขยับมาที่ 145/85 ใช้ยากลุ่ม RAS ก่อนอันอื่น (-pril หรือ -sartan) ถ้าไม่ลงค่อยให้ยาเพิ่มชนิด
8. เบาหวาน อายุเกิน 40 และ LDL มากกว่า 100 ใช้ยาstatinทุกคน (ก็เกือบทุกคนแล้ว) และถ้ามีโรคหัวใจและหลอดเลือดใช้ค่า LDLที่น้อยกว่า 70 ส่วนไตรกลีเซอไรด์มาพิจารณาทีหลัง ในกรณีเกิน 500 และ..ย้ำ..และ..เสี่ยงการเกิดตับอ่อนอักเสบจึงใช้ยา fibrate
9.แอสไพรินนั้น ถ้าเป็นโรคที่ต้องให้ ก็ควรกินตลอดถ้าไม่มีข้อห้าม แต่ถ้ายังไม่มีโรคหลอดเลือดการกินเพื่อป้องกันยังไม่เป็นที่ตกลงเป็นแนวทางชัดเจน พิจารณาเป็นรายๆไป ระวังเลือดออกทางเดินอาหารด้วย
10. ตรวจตา 1-2 ปีต่อครั้ง ใช้การถ่ายภาพจอประสาทตา ตรวจเส้นประสาทใช้ monofilament (ควรตรวจการรับความรู้สึกเจ็บด้วยนะ) สอนการดูแลเท้าเสมอ
ส่วนการตรวจไตใช้ urine albumin creatinine excretion แทนการเก็บปัสสาวะทั้งวันในการคัดกรองได้ ถ้าค่าเกิน 30 ต่อเนื่องกันสองสามครั้ง ต้องการพิจารณาว่ามีไตเสื่อมหรือยัง และถ้ามีก็ควรใช้ยาลดความดัน อีปริ้วและซาทาน เพื่อลดโปรตีนรั่วตรงนี้ (ระวังความดันต่ำ)
ส่วนการตรวจไตใช้ urine albumin creatinine excretion แทนการเก็บปัสสาวะทั้งวันในการคัดกรองได้ ถ้าค่าเกิน 30 ต่อเนื่องกันสองสามครั้ง ต้องการพิจารณาว่ามีไตเสื่อมหรือยัง และถ้ามีก็ควรใช้ยาลดความดัน อีปริ้วและซาทาน เพื่อลดโปรตีนรั่วตรงนี้ (ระวังความดันต่ำ)
11. พรีเมียร์ลีกใกล้เปิดฤดูกาลแล้ว การหันมาเชียร์ทีมลิเวอร์พูลถือว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หัวใจเต้นรัวตลอด ฝึกรับความผิดหวังที่ไม่คาดคิด และเป็นฝึกความการอดทน(ทนดู)ตลอดฤดูกาล เพื่อรอรับความสำเร็จระดับแชมป์ตอนจบฤดูกาล แบบที่บางทีมแถวเมืองแมนเชสเตอร์ได้แต่ยืนทำตาปริบๆ กร๊ากๆๆๆ
อย่าลืมการรักษาเบาหวาน มีแนวทางเป็นแผนที่เท่านั้น ส่วนการเดินทางไปสู่จุดหมายเป็นการดูแลรายบุคคล ตกลงกันเพราะคนไข้ทุกคนไม่มีอะไรที่เหมือนกัน (ขอแถม ..ตกลงแล้วเขียนในเวชระเบียนด้วย เผื่อหมอคนอื่นมาดูต่อจากท่านจะได้ทราบเป้าของท่านกับคนไข้)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น