27 กรกฎาคม 2560

ยาต้านเกล็ดเลือด

หนึ่งในยาที่เรียกผิดมากที่สุด..ยากันเลือดแข็ง กับ ยาต้านเกล็ดเลือด
ยาที่ใช้กันมากในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็งและมีไขมันในหลอดเลือดคือ ..ยาต้านเกล็ดเลือด antiplatelet ครับ วันก่อนเราได้รู้จักยาละลายลิ่มเลือดไปแล้ว วันนี้มายาต้านเกล็ดเลือดบ้าง
ใช้บ่อยๆก็ aspirin, clopidogrel, prasugrel, ticagrelor, dipyridamole, cilostazol ส่วนที่ใช้ในโรงพยาบาลในห้องปฏิบัติการต่างๆเช่น eptifibatide, cangrelor ที่เป็นแบบฉีด
แล้วทำไมต้องต้านมันด้วย .. เรียกให้ถูกคือทำให้มันหมดสมรรถภาพดีกว่า เอาละ ทำตัวให้เล็กแล้วมุดไปที่หลอดเลือดหัวใจกัน...แว๊บบบบบ
เกล็ดเลือดปกตินั้น ทำหน้าที่คอยอุดรูรั่ว รูฉีกขาดของผนังหลอดเลือดเปรียบเสมือนดินน้ำมันที่อุดรู เพียงแต่อุดจากด้านในเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ดี อุดแล้วไม่พอเรียกเพื่อนมาช่วยกันอุดแถมใช้กาวซีเมนต์คือสารแข็งตัวเลือดฉาบซ้ำด้วย
แต่ในภาวะที่หลอดเลือดแดงแข็ง ไขมันตัวร้ายสูง มีการเกาะของไขมันที่ผนังหลอดเลือด พอกหนาขึ้น ซอกซอนไปใต้ผิวหลอดเลือด หลังจากนั้นด้วยกระบวนการอักเสบและการเกิดกระแสเลือดหมุนวน คล้ายๆน้ำวนเวลามีอะไรไปขวางทาง ก็จะทำให้เกิดรอยฉีกขาดเป็นแผล เปรี๊ยะ....
เกล็ดเลือดมาแล้ว ไวปานกามนิตหนุ่ม ไปซ่อมทันทีพาเพื่อนมาอุดพอกไว้ แต่ว่าไขมันก็ยังคงมาพอกต่อไป มีรอยฉีดขาดต่อไป อุดต่อไป วนไปวนไป ก้อนก็หนาขึ้น จนถึงวันดีคืนร้าย ด้วยเหตุผลใดยังไม่ปรากฏชัด มันแตกและหลุด..แคร๊กกกก
พุ่งไปอุดหลอดเลือด..กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด...กล้ามเนื้อหัวใจตาย..หัวใจวาย..ไร้ซึ่งคนดูแล..ทำให้ท้อแท้ยามชรา
อย่ากระนั้นเลย อย่าทำให้เกิดดีกว่า นอกจากลดไขมัน ลดการอักเสบด้วย statin แล้วก็มาลดการจับเกาะของเกล็ดเลือดด้วยยาต้านเกล็ดเลือดนี่ไง
เอาล่ะ วาร์ปออกมาจากหลอดเลือดได้ มาฟังสบายๆ
ยาต้านเกล็ดเลือดจึงทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดมาจับตัวกัน เปรียบเสมือนเราเอาหมากฝรั่งไปอุดตะขอและรูเสียบ มันย่อมจับตัวกันไม่ได้ก็ไม่เกิดเป็นก้อนเกล็ดเลือดไส้ไขมันที่จะไปอุดได้ง่ายๆ
ดีไหมครับ..ไม่มีอะไรไปอุด แต่อย่าลืมนะเวลาเกิดบาดแผลที่ต้องการการทำงานของเกล็ดเลือดมันก็ง่อยเช่นกัน เป็นที่มาว่าผู้ที่กินยาต้านเกล็ดเลือดก็จะมีเลือดหยุดยากกว่าปกติ (เลือดออกง่ายเท่าๆเดิมนั่นแหละ แต่หยุดยาก) อาจต้องหยุดยาเวลาผ่าตัด ทำฟัน เป็นต้น
ยาแต่ละตัวก็ออกฤทธิ์ต่างกัน ผมขอกล่าวถึงแต่แอสไพรินนะครับเพราะใช้มากที่สุด ยาแอสไพรินขนาดที่ใช้บ่อยคือ 81 มิลลิกรัม (มีหลายขนาดนะครับ) ตามแนวทางที่บอกว่าให้ใช้ขนาด 80 มิลลิกรัมขึ้นไป แอสไพรินนี่จะจับเกล็ดเลือดไม่ปล่อยเลยจนกว่าจะตายจากกันไป 7-10 วัน แถมตัวมันยังมีอานุภาพเป็นยาต้านการอักเสบที่ทำให้เลือดออกทางเดินอาหารได้
ปัญหาที่พบบ่อยมากของแอสไพรินคือ เลือดออกทางเดินอาหารนั่นเองครับ ถ้ามีเลือดออกจนอันตรายอาจต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่นหรือใช้ยาลดกรดช่วยป้องกัน การใช้ยาโดยที่ยังไม่เกิดโรคจึงไม่เป็นที่นิยมครับ ต้องคำนึงถึงประเด็นนี้มากๆ โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ที่เคยเลือดออกทางเดินอาหารมาก่อน หรือผู้ที่"จำเป็น"ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว (โดยเฉพาะกลุ่มที่ใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดหัวใจ) ใช้ยาต้านการอักเสบร่วมด้วย หรือมียากันเลือดแข็งด้วย
ยาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่นไม่มีสมบัติลดการอักเสบ โอกาสเลือดออกน้อยกว่าแอสไพริน แต่ละตัวมีที่ใช้และจุดดีจุดด้อยต่างกัน เช่นปฏิกิริยาระหว่างยา ออกฤทธิ์เร็วช้า ใช้ระยะยาวได้ไหม หมดฤทธิ์เร็วไหมหากต้องการผ่าตัด สุดท้ายก็ราคายาครับ
พอเข้าใจนะครับ..ยาละลายลิ่มเลือด, ยาต้านเกล็ดเลือด ที่เหลือก็ยากันเลือดแข็ง เขียนไปมากมายแล้วครับ
เครดิตภาพ : newhealthadvisor.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม