24 กรกฎาคม 2560

fast track

หลายคนสงสัยว่า fast track ในการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ..มันโผล่มาจากไหนเวลาผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล
โรงพยาบาลที่มีผู้คนคลาคล่ำ คิวการตรวจแน่นเอี๊ยด คนไข้รออย่างอดทน หมอตรวจอย่างอึดถึก บุคลากรงานแน่นเอี๊ยด แต่พอมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันและหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ทางพิเศษมันโผล่มาจากไหน
หัวใจสำคัญของการรักษาคือ...เวลา...ยิ่งเราปล่อยเวลาให้ผ่านไปนานเท่าไร กล้ามเนื้อหัวใจและเนื้อสมองยิ่งตายไปเรื่อยๆ และถ้าเราแก้ไขได้รวดเร็วเราก็จะสามารถคืนสภาพเดิมได้มากเท่านั้
สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันนั้น (ST elevation MI) ถ้าเราไม่สามารถส่งผู้ป่วยไปรักษาโดยทำหัตถการสวนหัวใจได้เร็วพอภายใน 120 นาทีและถ้าสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้เร็วกว่ามาก(ไม่มีข้อห้ามนะ) เราก็จะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดยิ่งเร็วยิ่งดี..เพราะเวลาคือชีวิต
สำหรับโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน (acute ischemic stroke) ถ้าเราสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้เร็วพอ ภายในเวลาสี่ชั่วโมงครึ่งนับแต่เกิดเหตุ อาจสามารถแก้ไขจนกลับคืนสภาพเดิมได้หรือเกือบเป็นปรกติได้ ..เวลาคือชีวิต
หลักการการทำ fast track คือ ต้องมีการเตรียมตัวที่ดีและมีการสื่อสารไร้รอยต่อ เอาละคิดตามนะครับ ในการทำงานในแต่ละเวรจะมีบุคลากรที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าหากเกิดเหตุขึ้นมาคุณจะทำอะไร เช่น เมื่อเกิดเหตุใครจะลงทะเบียน ใครจะตรวจคลื่นหัวใจ ใครจะเจาะลือด ใครจะเตรียมยา ห้องเอกซเรย์ใครจะเป็นคนเคลียร์ห้อง โทรแจ้งหมอเอกซเรย์เตรียมอ่านฟิล์ม ประมาณนี้ มีครบทุกหน้าที่ ทุกตำแหน่ง และใช้ระบบ total football คือ สามารถทดแทนหน้าที่กันได้ทันที จะใช้ช่องทางสื่อสารอย่างไร แผนกไหนจะประเมินสิทธิการรักษา คุยกับญาติ
เมื่อไม่เกิดเหตุ ทุกคนก็ทำหน้าที่ตามปกติ แต่พอประกาศโค้ดว่ามีกรณี fast track ทุกคนจะถูกเข้าสิงทันที ปึ๊งงงง...กลายร่างเป็นมนุษย์ fast track ทำงานมะรุมมะตุ้มพร้อมกัน !!!! นี่คือประเด็น..พร้อมกัน
ถ้าเราทำแต่ละขั้นตอนและทุกคนทำเร็วมาก แต่ละแผนกใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ห้าแผนกก็เกือบชั่วโมงแล้ว แต่ถ้าเราทำพร้อมกันแต่ะคนทำหน้าที่ตัวเองและพร้อมรับส่งกันตลอด จากห้าสิบนาที..ก็กลายเป็นสิบนาที..เห็นไหมครับ ทางด่วนความเร็วสูงมันโผล่ออกมาและใช้ได้เร็วมาก เปรียบดังใช้ ม.44
การเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ เสมือนว่าภายในเวรที่เราอยู่จะต้องมีคนไข้แบบนี้มาแน่ๆอย่างน้อยสองคน เราจะพร้อมตลอดเวลา และใช้ระบบสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ เขียนเป็นโปรแกรมออโต้ไว้เลย ถ้าเราติดขัดไม่ตามโปรแกรมแสดงว่าเราช้าแล้ว เราติดขัดแล้ว
เตรียมตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานขับรถพยาบาล พนักงานเปล เจ้าหน้าที่เวชระเบียนและสิทธิบัตร หมอพยาบาลฉุกเฉิน แพทย์เฉพาะทาง เจ้าหน้าที่เอกซเรย์ โทรศัพท์แบตเต็ม เภสัชกร ห้องไอซียูซีซียู เตรียมเอกสารไว้ล่วงหน้า ทำงานเป็นทีม ถ้านึกภาพไม่ออกอีกให้นึกภาพทีมลิเวอร์พูลเล่นฟุตบอลนั่นแหละครับ
เมื่อเราทำแบบนี้เราจะร่นเวลาการให้บริการจนสามารถให้การรักษาได้ทันเวลา รักษาชีวิต รักษาไม่ให้พิการ รักษาคุณภาพชีวิต รักษาจิตใจญาติและครอบครัว รักษาทรัพยากรบุคคลของประเทศ
ถ้าการบริหารจัดการไม่ดี มียาดีแค่ไหน มีการรักษาที่เลอเลิศเพียงใด มันจะไม่เปล่งประกายเต็มที่หรอกครับ ต้องวางแผนและจัดการที่ดีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม