05 กรกฎาคม 2560

ยานอนหลับ hypnotics

ยานอนหลับ hypnotics

หลายๆคนที่ประสบปัญหานอนไม่หลับ มักจะใช้ทางลัดในการรักษาคือยานอนหลับ เรามาพิจารณาเรื่องการใช้ยาของเราสักหน่อย
ปัญหาการนอนไม่หลับ โดยส่วนมากมักจะเป็นเรื่องทางจิตใจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นคิดมาก กังวล มีเรื่องให้เครียด หุ้นตก นกบิน ดินสอหัก รักร้าว ข่าวลือ ซื้อเรือดำน้ำ
ส่วนปัญหาทางร่างกายพบน้อยกว่ามาก ซึ่งก็จะมีเหตุอธิบายชัดเจนเช่น หอบหืดคือมันเหนื่อยจนนอนไม่ได้ โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ หรือ กินสารกระตุ้นเช่น ชา กาแฟ บางคนนอนกลางวันมาก ออกแรงน้อย ก็หลับยาก

เรียกว่าสาเหตุส่วนมากคือ ใช้เวลานานกว่าจะหลับ (sleep latency) หรืออาการนอนไม่หลับช่วงสั้นๆเฉียบพลัน(short term insomnia) ที่มักเป็นความตึงเครียดหรือภาวะทางจิตใจ การแก้ไขจึงมักจะต้องอาศัยการดูแลทางประคับประคองจิตใจกับจิตแพทย์ ผมขอยกตัวอย่างเช่น สินค้าเกษตรราคาตก..เครียด..นอนไม่หลับ พอรัฐบาลประกาศพยุงราคา ก็ไม่เครียด นอนได้ เป็นต้น
ส่วนโรคนอนไม่หลับเรื้อรังที่ต้องใช้ยาช่วยนอนหลับจริงๆ (primary insomnia) พบได้ไม่มากนักซึ่งต้องดูแลโดยจิตเวชผู้เชี่ยวชาญครับ

การใช้ยาต้านฮิสตามีน ยาแก้แพ้ หรือยาต้านซึมเศร้า เป็นการนำเอาผลข้างเคียงการซึมของยามาใช้ เรียกว่าไม่ได้ไปส่งผลต่อการควบคุมการหลับโดยตรง จึงมักจะตามมาด้วยผลอื่นๆอาทิเช่นปากแห้ง ปัสสาวะลำบาก ท้องผูก วูบเป็นลม โดยเฉพาะกับผู้สูงวัย

ยาที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับที่เป็นหลักคือ ยากลุ่มเบนโซไดอะเซปีน (benzodiazepine) ที่ออกฤทธิ์ทั้งทำให้ง่วงและส่งผลต่อความจำการรับรู้ (ผ่านสารสื่อประสาท GABA) เราจึงพบว่าถ้าใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทั้งสองจุดก็จะง่วงด้วยเบลอด้วย ตัวอย่างเช่นยาที่ชื่อว่า midazolam หรือ ดอร์มิคุ่ม ที่ทำให้หลับได้เร็วแต่ก็จะทำให้เบอลและจดจำเหตุการณ์ไม่ค่อยได้ คล้ายๆกับยาอีกตัวคือ flunitrazepam หรือ rohypnol ที่ออกฤทธิ์เร็วมากเช่นกัน ยาสองตัวนี้มีผู้ไม่ประสงค์ดีนำมาใช้ในทางอาชญากรรมมากเลยทีเดียว
ส่วนยาที่ลงท้ายด้วย ซีแปมๆทั้งหลายถ้าไม่ออกฤทธิ์นาน ทำให้ตื่นมาก็ยังซึม ก็จะมีผลต่อความจำการรับรู้ด้วยนั่นเอง เช่น ไดอาซีแปม ลอราซีแปม ส่วนยาอัลปราโซแลม หรือ ซาแนกซ์จะออกฤทธิ์และหมดฤทธิ์เร็ว เรียกว่าพอเคลิ้มๆจะหลับก็หมดฤทธิ์แล้วครับ

นอกเหนือจากนี้ผลอันตรายอย่างมากของยาคือ กดการหายใจ ผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับหรือหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังต้องระมัดระวังมากๆ และผลปากแห้ง ท้องผูก ฯลฯ ที่เหมือนยาแก้แพ้ก็พบในยากลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

หมายความว่าอย่างไร...หมายความว่า ไม่ควรใช้ยาถ้าไม่จำเป็นจริงๆ หรือควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา "ต้นเหตุ" ของการนอนไม่หลับ เพราะสาเหตุส่วนมากเกิดจากความเครียดหรือภาวะอ่อนไหวทางจิตเวช การใช้ยาพร่ำเพรื่อ เพียงเพื่อหวังเป็น "ทางลัด" ในการนอนหลับไม่ดีแน่นอน ถ้าใช้ก็ต้องทราบข้อดี ข้อจำกัดของยาเป็นอย่างดี

อันตรายในระยะยาวของยาอีกอย่างหนึ่งคือ ติดยา (tolerance) ไม่ใข้ยา..ไม่หลับ ใช้ขนาดเดิมไม่หลับ..ต้องอัพขนาด มักจะเกิดกับยาที่ออกฤทธิ์สั้น (ฤทธิ์นอนหลับสั้นแต่ฤทธิ์ง่วงซึมอาจจะยาวนาน)

จึงมียาที่สร้างมาเพื่อการนอนหลับในรุ่นใหม่ๆ ที่ออกฤทธิ์ควบคุมการหลับได้ดี (BZ1 receptor) โดยที่ไม่ไปรบกวนการรับรู้ การซึม การเบลอ (BZ2 receptor) มากนัก ..ผมเขียนให้ทราบและไม่แนะนำให้ซื้อใช้เอง แพทย์ท่านใดจะใช้ก็ต้องรู้จักยาเป็นอย่างดี ส่วนมากและส่วนมากๆคือจิตแพทย์ครับ (และส่วนมากจิตแพทย์จะหาสาเหตุของอาการนอนอไม่หลับร่วมกับแก้สาเหตุ มากกว่าใช้ยาเพื่อเป็นทางลัด)
ได้แก่ยา zolpidem, zpiclone, zalepron ยาพวกนี้ไปจัดการการง่วงการนอนอย่างเดียว ไม่ไปส่งผลต่อการรับรู้การเรียนรู้ ผลข้างเคียงต่อระบบประสาทอื่นๆ และการกดการหายใจต่ำมาก การออกฤทธิ์ก็พอดีๆ ไม่สั้นเกินไปจนต้องกินบ่อยๆและติดยา

ผู้ป่วยบางราย มียากลุ่ม benzodiazepine กินคู่กับยาเบาหวาน ความดัน ไขมัน มาตลอด ถ้าไม่กินจะนอนไม่หลับ ตื่นมาก็ง่วงซึม เบลอๆ ยืนๆก็เซวูบ ฉี่ยากอึยาก ..หาสาเหตุมากมายไม่พบ ลืมมองไปว่ามียากลุ่มนี้อยู่ด้วย เพียงปรับยา ลดยา หยุดยา สิ่งต่างๆก็จะดีขึ้นมาเอง จะใช้สมุนไพร ดอกขี้เหล็ก ก็ได้
ส่วนใครนอนไม่หลับเรื้อรังที่ต้องใช้ melatonin หรือ L-tryptophan ให้ปรึกษาจิตแพทย์นะครับ
แต่ถ้าท่านชายอยากมีคนกล่อมนอน...ถึงจะหลับ ปรึกษา พ่อบ้านใจกล้า นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม