26 กรกฎาคม 2560

ถ้าหยุดกินยาลดไขมันจะเป็นอย่างไร

ตอบคำถามจากเมื่อวันที่ live ถ้าหยุดกินยาลดไขมันจะเป็นอย่างไร
บังเอิญมากที่คำถามนี้ ก็มาพร้อมกับข่าวที่ลง CNN ในวันที่ 24 กรกฎาคม อ้างอิงการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน annals of Internal Medicine ฉบับล่าสุดเช่นกัน น่าสนใจดีนะครับถ้าคุณไม่มีโรค แค่เสี่ยง เมื่อถึงเกณฑ์ได้รับยาแล้วเลือกไม่รับหรือรับแล้วเกิดผลเสียจะเป็นอย่างไร
ขออธิบายแบบพื้นฐานก่อน เมื่อคุณกินยาความเสี่ยงคุณลดลง เมื่อคุณไม่กินยาความเสี่ยงมันก็เท่าๆเดิม เมื่อกินยาแล้วหยุดยาจะมีผลการปกป้องที่ลดลงแน่นอนครับ อันนี้แบบตรงไปตรงมาเลยนะ แล้วถ้าเกิดผลข้างเคียงล่ะ อย่างนี้ก็หยุดเสียดีไหม
CNN พาดหัวข่าวนี้ อ้างอิงการศึกษาที่ทำในประเทศจีนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งร่วมกับฮาร์เวิร์ด เก็บข้อมูลโดยสอบถามผู้ที่ได้รับยาลดไขมันเป็นการรายงานตัวเองโดยผู้วิจัยมาตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง ก็พบว่าประมาณ24% ที่รายงานตัวเองว่าเกิดผลข้างเคียง ในรายงานที่ส่งมาผลข้างเคียงที่พบคือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออักเสบ แล้วติดตามดูว่าผู้ที่เกิดผลข้างเคียงแล้ว กลุ่มที่เลือกกินยาต่อกับกลุ่มที่ไม่กินยาต่อไปจะมีการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแตกต่างกันไหม
ผลปรากฏว่าในกลุ่มที่ใช้ยา statin ต่อไปนั้นมีอัตราการเสียชีวิตลดต่ำกว่ากลุ่มที่หยุดยาไปเลย 10-20% ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ ในกลุ่มที่กินยาต่อก็พบว่ามีผลข้างเคียงปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 25% (จากครั้งแรกที่ไม่เคยได้มาก่อนเกิด 18.7%) แต่คนที่กินต่อก็ให้เหตุผลว่าอาการเล็กน้อยและทนได้ ก็น่าจะดีสำหรับคนที่กินต่อซึ่งอาจเลือกใช้ยี่ห้ออื่นแทนได้ แต่ว่าข้อสังเกตของการศึกษานี้คือกลุ่มคนที่กินเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงและเป็นโรคแล้วบางส่วน การหยุดยาจึงส่งผลเสียพอสมควร ถ้าไปศึกษาในกลุ่มเสี่ยงต่ำๆผลอาจเป็นอีกแบบก็ได้
ผมลิงค์วารสารมาให้ http://annals.org/…/continued-statin-prescriptions-after-ad…
ได้สัมภาษณ์ Dr. Steven Nissen ผู้ทำการวิจัยยา statin ที่ถือเป็นผู้รู้กูรูของยานี้และสัมภาษณ์ผู้วิจัย Dr. Alexander Turchin ถึงการที่มีคนที่มีผลข้างเคียงจากยาแล้วหยุดยา เขาก็ไม่เกิดโรค ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้แต่ทว่าโอกาสน้อยตามหลักสถิติ ทางผู้เชี่ยวชาญทั้งคู่เห็นว่าหลักฐานของการลดอัตราการเสียชีวิตจากการให้ยานั้นมีประโยชน์เหนือกว่าผลเสียอันไม่รุนแรงจากยา โดยเฉพาะในภาพรวม จึงไม่แนะนำหยุดยาหากไม่เกิดผลเสียรุนแรง และถ้าหยุดก็จะมีความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยรวมสูงกว่าผู้ที่กินต่ออย่างชัดเจน
จริงๆแล้วถ้าทนยา statin ไม่ได้เราก็มีตัวเลือกอันดับต่อมานะครับคือ PCSK9i แต่ยังไม่มาในไทยและยังไม่อยู่ในแนวทางไทยหรือจะใช้ Eztimibe หรือยาอื่นๆก็มีหลักฐานว่าลดอัตราการเสียชีวิตเช่นกันเพียงแต่หลักฐานไม่หนักแน่นเท่า Statin
และบางคนก็เชื่อว่ามีผลจาก nocebo effect ที่มารายงานและพูดกันแพร่หลายในอินเตอร์เน็ตถึงผลเสียที่มากมายของ statin ซึ่งเมื่อเราใช้จริงๆแล้วเรากลับไม่พบ nocebo effect เหล่านั้นมากมายเม่าในการศึกษา
Nocebo คือ อาสาสมัครที่รายงานถึงผลเสียของยาทดลองทั้งๆที่จริงๆได้ยาหลอก เพราะได้ทราบว่ายาที่ใช้ “อาจ” มีผลข้างเคียง
ตรงกันข้ามกับ placebo effect คือรายงานว่าได้ประโยชน์จากยาทดลองทั้งๆที่ได้ยาหลอก เพราะได้ข้อมูลว่ายาที่ใช้ “อาจ”ประโยชน์
เรื่องนี้มีคนคิดและทำเตรียมคำตอบไว้แล้ว แถมท้ายนิดนึงผู้เชี่ยวชาญทั้งสองยอมรับว่าได้ทุนวิจัยจากบริษัทยามาใช้ในงานวิจัยด้วยนะครับ **กรุณาอ่านคอมเม้นท์ด้านล่าง**
และผมขอเชิญแขกรับเชิญ อาจารย์หมอหนุ่มผู้เขียนแนวทางของประเทศเรามาให้ความเห็นประเด็นนี้สักเล็กน้อยครับ หวังว่าอาจารย์คงเมตตาพวกเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม