27 มิถุนายน 2563

ใครที่เสี่ยงกระดูกพรุน คัดกรองอย่างไร ควรตระหนักเมื่อไร

ใครที่เสี่ยงกระดูกพรุน คัดกรองอย่างไร ควรตระหนักเมื่อไร
จากตอนที่แล้ว เรารู้จักอันตรายจากกระดูกสะโพกหัก จากกระดูกพรุนมาแล้ว วันนี้เราจะมาจับประเด็นเรื่องความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
กระดูกพรุน มีความผิดปกติทั้งโครงสร้างระดับเซลล์ และแร่ธาตุที่เสริมความแข็งแกร่งให้กระดูก กระดูกคนเรามีชีวิตนะครับ มีการสร้างและสลายตลอดเวลา ในวัยเด็กก็สร้างมากกว่าทำลาย ขยับมาเท่า ๆ กัน สมดุลในวัยผู้ใหญ่ และเมื่อเข้าสู่วัยชราก็จะทำลายมากกว่าสร้าง อันเป็นสิ่งปรกติ นั่นคือ กระดูกพรุนเป็นภาวะที่เกิดตามธรรมชาติ เราไม่สามารถไปฝืนได้ จากวัยที่เพิ่มและฮอร์โมนที่ลดลง
การรักษากระดูกพรุน จึงไม่ได้มีเป้าหมายให้คุณแข็งแรงเป็นอมตะเช่นซูเปอร์แมน แต่หวังผลให้ใช้ชีวิตได้ดี อยู่กับกระดูกพรุนให้ได้ ลดปัจจัยเสี่ยงที่พึงปรับได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ***โอกาสกระดูกหักต้องลดลง**
แนวทางปัจจุบัน ให้หาความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักคู่กับกระดูกพรุนเสมอ หากใครมีทุนทรัพย์พอ สามารถวัดมวลกระดูกได้ตลอดก็ทำได้ แต่สำหรับคนส่วนมากที่ทุนทรัพย์ไม่มาก หรือภาพรวมที่ต้องดูแลคนไข้ทั้งประเทศ เราคงต้องคัดสรรหาคนที่เสี่ยงมากพอ เพื่อจะมารักษา มาตรวจ มาให้ยา
● เราใช้แบบทดสอบความน่าจะเป็น ที่ตัวเลขหลังคำนวณได้คือ โอกาสเกิดประดูกหักในช่วงเวลา 10 ปี สามารถใช้แบบทดสอบได้ดังนี้ (ค้นกูเกิ้ล และกดตัวเลขออนไลน์ได้เลย)
• WHO FRAX score มีฐานข้อมูลของคนไทยด้วย
https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/tool.aspx?country=57
เมื่อทำแบบทดสอบแล้วพบว่าเรามีโอกาสเสี่ยงกระดูกหักกระดูกพรุน ก็จะไปวัดมวลกระดูกเพื่อวินิจฉัยและรักษา
⚠️⚠️*แต่ถึงแม้ทำแบบทดสอบแล้วไม่เสี่ยง ก็ควรปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงเช่นกัน*⚠️⚠️
ส่วนการตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน คงจะต้องใช้การวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (bone mass density) เป็นสำคัญ มีวิธีวัดหลายอย่าง แต่ที่ใช้กันมาก มีการศึกษารองรับมาก คือการวัดด้วยวิธี Dual Energy X-ray Absorptiometry เรียกสั้น ๆ ว่า DXA เด๊กซ์ซ่า
ตำแหน่งที่วัดคือ กระดูกสันหลังส่วนเอว และกระดูกต้นขา ในข้างที่ไม่ใช่ข้างถนัด หรือไม่เคยมีการหักมาก่อน แล้วนำค่าที่ได้มาคำนวณทางสถิติ ..*** การวัดค่าที่กระดูกส่วนอื่น เช่น ที่ข้อมือ ไม่ถือเป็นมาตรฐานการวินิจฉัย จะทำก็ต่อเมื่อมีข้อจำกัดอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่สามารถวัดที่สันหลังและต้นขาได้เท่านั้น **..
ค่าที่ได้จะมาคำนวณทางสถิติ เทียบกับความหนาแน่นกระดูกที่ดีที่สุดของสุภาพสตรีในวัยผู้ใหญ่ที่กระดูกเจริญเต็มที่ ในเชื้อชาติเดียวกัน หากมีความแปรปรวนจากค่าเฉลี่ยมากกว่าค่าที่กำหนดจะถือว่า กระดูกพรุน (T-score less than -2.5 SD)
หากไม่มีความเสี่ยงหรือข้อบ่งชี้อื่น ๆ เราจะแนะนำวัดความหนาแน่นมวลกระดูก
สุภาพสตรี อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
สุภาพบุรุษ อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
สุภาพสตรีที่ผอมมาก ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20 (ผอมมากเสี่ยงกระดูกพรุน แต่อ้วนมาก เสี่ยงทุกโรคเลยนะครับ... ดักคอไว้ก่อน)
และอย่างที่กล่าวไว้ว่า หากพบว่าเสี่ยงกระดูกหัก และ มีภาวะกระดูกพรุน ให้เข้ารับการหาสาเหตุ รักษาและติดตาม แต่หากไม่เสี่ยงและกระดูกไม่พรุน ก็ห้ามประมาท อย่างไรเสีย การปฏิบัติตัวเพื่อลดโอกาสกระดูกหักและกระดูกพรุนยังเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและสมควรทำเสมอ
แล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร ติดตามต่อไปนะครับ วันนี้จะไปแห่แชมป์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม