19 มิถุนายน 2563

โรคเกาต์เฉียบพลัน

ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วครับ หลังจากที่เราทราบว่า กรดยูริกในเลือดสูงไม่เท่ากับเป็นเกาต์เสมอไป เมื่อไรที่จะลดกรดยูริก และยาลดกรดยูริกเป็นอย่างไร คราวนี้เราจะมาพูดถึงโรคเกาต์เฉียบพลัน
โรคเกาต์เฉียบพลันที่เป็นครั้งแรก ๆ มักจะมีอาการปวดข้อเดียวฉับพลัน รุนแรง ข้อที่เป็นบ่อยคือข้อนิ้วหัวแม่เท้าหรือข้อเท้า ในกรณีนี้จะต้องแยกโรคจากข้อติดเชื้อเฉียบพลันทุกครั้ง เนื่องจากรักษาต่างกันและหากเป็นข้อติดเชื้อแล้วปล่อยไว้นาน จะมีการทำลายของผิวข้อจนอาจเกิดความพิการได้ในอนาคต วิธีแยกโรคที่ดีที่สุดคือการเจาะตรวจน้ำไขข้อ
แต่โรคเกาต์กำเริบ จะหมายถึงเคยเป็นแล้วหรือกำลังรักษาอยู่ กลับมามีอาการซ้ำอีก ส่วนมากก็ข้อเดิม อาการเดิม กรณีแบบนี้เราอาจจะให้การรักษาโรคเกาต์และติดตามอาการเพื่อแยกโรคดูก่อนได้เลย ยาที่นิยมใช้มากที่สุดคือ colchicine เพราะแก้ปวดลดอักเสบได้ดี มีข้อห้ามน้อยกว่ายาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs คนที่เคยรักษาโรคเกาต์อาจจะพกยาติดตัวและกินเมื่อมีอาการได้เลย (medicine-in-pocket)
การรักษาโรคกำเริบ จะใช้ยาต้านปวดลดการอักเสบ ใช้มากคือ colchicine แก้ปวดเกาต์ได้ดี สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ส่วนมากจะใช้ขนาดสูงไม่ได้ เนื่องจากผลข้างเคียงการระคายเคืองกระเพาะอาหารและลำไส้ คลื่นไส้อาเจียนถ่ายเหลว และหากใช้ร่วมกับยาตัวอื่นจะต้องระวังปฏิกิริยาระหว่างยาให้ดีด้วยครับ อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบได้ด้วย
ยาแก้ปวดชนิด NSAIDs สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ต้องระมัดระวังเพราะโรคเกาต์มักจะเกิดในผู้สูงวัยที่มีโรคร่วม ยา NSAIDs อาจจะส่งผลต่อการทำงานของไต การกำเริบของโรคหัวใจ และเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ หากจะใช้ต้องคิดถึงข้อระวังและติดตามให้ดี
การให้ยาสเตียรอยด์ก็มีที่ใช้บ้าง ในกรณีที่ไม่สามารถให้ยาอื่น ๆ ได้ (และแน่ใจว่าไม่ใช่ข้ออักเสบติดเชื้อ) มักจะให้ในกรณีที่ผู้ป่วยจะต้องงดยาทางปาก (เกาต์มักจะกำเริบเวลามีโรคป่วยใด ๆ ขึ้นมา)
งดการบีบนวด เพราะข้ออักเสบควรจะพักข้อ ในวันแรก ๆ ที่มีการปวดบวมแดงร้อนมากให้ลดการเคลื่อนที่และประคบเย็น
แต่ที่สำคัญกว่าคือทำไมจึงกำเริบ ??
ต้องมาทบทวนเรื่องการกินยา ว่ากินสม่ำเสมอหรือไม่ ต้องปรับยาให้ระดับกรดยูริกในเลือดลดลงอีกหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนยาเป็นยากลุ่มใหม่เพราะใช้แล้วไม่ได้ผล หรือมีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้กำเริบขึ้นมา เจ้าเหตุปัจจัยนี้เองที่เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดที่ทำให้โรคกำเริบมากที่สุด คือ อาหารที่เพิ่มการเกิดเกาต์
1. ผู้ร้ายอันดับหนึ่ง ยืนหนึ่งมาตลอดคือ เหล้าและแอลกอฮอล์ ไม่ว่าเครื่องดื่มชนิดใด มากน้อยแค่ไหน **ต้องงด** ไม่ว่าสภาวะโรคจะควบคุมได้ดีหรือโรคกำเริบอยู่ ต้องเลิกนะครับ
2. อาหารที่มีพิวรีนสูง พิวรีนเป็นโปรตีนที่อยู่ในเซลล์ ในดีเอ็นเอ เมื่อโปรตีนนี้สลายตัว ผลลัพธ์สุดท้ายคือ กรดยูริก อาหารที่มีพิวรีนสูงจึงแนะนำให้ลดลงหรือหลีกเลี่ยง อาหารพิวรีน เช่น ตับ เนื้อแดง อาหารทะเลโดยเฉพาะหอยทะเล ส่วนปลาทะเลก็พอมีบ้างแต่ไม่มากนัก ส่วนอาหารจากสัตว์ปีกนั้นมีพิวรีนต่ำกว่าเนื้อแดงและถั่ว แต่ถ้าท่านรับประทานแล้วเกาต์กำเริบ ก็ให้หลีกเลี่ยงครับ
3. อาหารที่มีส่วนผสมของ fructose corn syrup สูง มักจะผสมมาในอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ลองชำเลืองมองดูส่วนผสมข้างขวดและข้างซองให้ดีครับ ปัจจุบันเราใช้ fructose corn syrup ในอุตสาหกรรมอาหารกันอย่างแพร่หลาย
หวังว่า 4 ตอน ที่ได้นำแนวทางการรักษาโรคเกาต์ของวิทยาลัยแพทย์โรคข้อและรูมาติซั่มของอเมริกา ประกาศเมื่อ มิถุนายน 2020 นำมาสรุปให้เข้าใจ ให้ประชาชนได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติ คงได้ประโยชน์กับท่านบ้างนะครับ
ดังคำที่กล่าวว่า
"รู้เกาต์ รู้เรา เป็นร้อยครั้ง ... ก็ปวดร้อยครั้ง"
สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม