26 มิถุนายน 2563

กระดูกสะโพกหัก เนื่องจากหกล้ม ในผู้ป่วยกระดูกพรุน

ภาพที่เห็นคือ กระดูกสะโพกหัก เนื่องจากหกล้ม ในผู้ป่วยกระดูกพรุน
หญิงอายุ 70 ปี หกล้มเนื่องจากเสียหลัก ไม่ได้ตกจากที่สูง จากยืนมาเป็นล้มสะโพกซ้ายกระแทกพื้น หลักจากกระแทกแล้วปวดพอสมควรและเดินลำบากมาก มาตรวจพบว่ากระดูกข้อสะโพก ในส่วนกระดูกต้นขาหัก
เราเรียกกระดูกหักที่ไม่ได้เกิดจากแรงกระแทกรุนแรงหรือหักในที่ไม่ควรหักจากแรงกระแทกว่า pathological fracture
หมายถึงกระดูกที่มีโรคอยู่เดิม เมื่อถูกแรงกระแทกไม่มากก็หักได้ โรคที่พบบ่อยเช่น มะเร็ง โรคกระดูกพรุน สำหรับสุภาพสตรีรายนี้เธอมีภาวะกระดูกพรุนอยู่เดิม เมื่อหกล้มกระแทก แม้ไม่แรงมากก็ทำให้หักได้ และตำแหน่งข้อสะโพกนี้ก็หักบ่อย
ตำแหน่งที่หักบ่อย มีข้อสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ
🚩สำหรับกระดูกข้อมือ จะสังเกตความผิดปกติได้ง่าย รักษาไม่ยากนัก และไม่ทำความเสียหายมากเท่าไร
🚩สำหรับกระดูกสันหลัง แม้จะดูว่าอันตรายเพราะชิดไขสันหลัง ทางเดินประสาทสำคัญ แต่กระดูกสันหลังมีหลายข้อ และมีระบบเชื่อมโยงที่ดี อาการของกระดูกสันหลังหักคือ ปวดหลัง นานเข้าจะมีหลังโก่ง ความสูงลดลง แต่ถ้าหักรุนแรงหรือองศาไปกดทับเส้นประสาทจะเกิดความเสียหายได้มาก และส่งผลให้การใช้ชีวิตแย่ลง
🚩🚩ส่วนการหักที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือ กระดูกสะโพกหัก เพราะจะทำให้เดินไม่ได้ ขยับลำบาก มีผลแทรกซ้อนมากมาย ทั้งหลอดเลือดดำอุดตัน แผลกดทับ ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก ทั้งหมดนี้เนื่องจากขยับไม่ได้
ตัวเลขที่ศึกษามาพบว่าอัตราการเสียชีวิตหลังจากกระดูกสะโพกหักสูงถึง 20% ในปีแรกที่หัก และจะเพิ่มขึ้นในปีถัด ๆ ไป แต่จะไม่มีอัตราเร่งมากเท่าปีแรก (ข้อมูลในไทยประมาณ 18%)
และประมาณ 40% ของคนที่กระดูกสะโพกหักจะเดินไม่ได้ดีดังเดิม กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยกระดูกหักจากกระดูกพรุน เป็นจำนวนมากคืออายุตั้งแต่ 70 ปี และสาเหตุที่พบมากคือหกล้ม
แนวทางการรักษากระดูกสะโพกหักในยุคปัจจุบันจึงพยายามซ่อมแซมให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าความเสี่ยงจากการผ่าตัด ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้การผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสะโพกไม่อันตรายเหมือนแต่ก่อน เพราะหากเดินหรือขยับไม่ได้ ปัญหาจะตามมาอีกมากมาย
หากจะป้องกันกระดูกสะโพกหัก เราจะต้องลดโอกาสการเกิดกระดูกพรุน และลดโอกาสหกล้ม สองปัจจัยนี้คือต้นตอและสาเหตุสำคัญของกระดูกข้อสะโพกหักรวมทั้งผลแทรกซ้อนที่ตามมา
ส่วนใครเสี่ยงและจะคัดกรองอย่างไร ติดตามตอนต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม