17 มิถุนายน 2563

ยาลดกรดยูริก : allopurinol

ยาลดกรดยูริก : allopurinol
สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาลดกรดยูริกในเลือด (ส่วนมากก็คือคนเป็นโรคเกาต์นั่นเอง) ยาตัวแรกที่คิดถึง ยาตัวแรกที่มีผลการศึกษามากสุด เรารู้จักกันดีทั้งแง่ดีและแง่เสีย คือยาที่ชื่อว่า allopurinol (แอลโลพูรินอล)
คำแนะนำคือให้ใช้ยาตัวนี้ก่อนตัวอื่น และให้เริ่มยาในขนาดต่ำทุกครั้ง ก่อนจะค่อย ๆ ปรับยาจนให้ได้เป้าหมาย เป้าหมายคือระดับกรดยูริกที่เราต้องการ คำแนะนำตามแนวทางนี้คือ ต่ำกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เหตุที่ต้องค่อย ๆ ปรับก็เพราะว่าแต่ละคนมีการตอบสนองไม่เท่ากัน ยิ่งให้ยาในขนาดสูง แม้ประโยชน์ในการลดกรดยูริกจะเพิ่ม แต่ผลเสียก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว ดังนั้นควรใช้ยาในขนาดพอดี ที่ทำให้ระดับกรดยูริกได้ระดับที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องขนาดสูงสุด
ข้อสำคัญอีกอย่างของการเริ่มยาขนาดต่ำคือ โอกาสเกิดอันตรายเรื่องแพ้ยา !!!
ในคนไทยและคนจีน มียีน HLA b*58:01 ที่ผิดปรกติได้มาก เจ้าความผิดปรกตินี้จะเพิ่มโอกาสการแพ้ยา allopurinol แบบรุนแรง คือ ผิวหนังไหม้ ปากลอก ตาบอด อวัยวะภายในล้มเหลว คำแนะนำปัจจุบันคือ ให้ตรวจคัดกรองยาความผิดปกติของยีนนี้ทุกครั้งก่อนเริ่มยา ... โอกาสที่ดีของคนไทยคือ สามารถส่งตรวจได้ทั่วประเทศในราคาไม่แพงแล้วนะ
หากส่งตรวจแล้วพบว่าโอกาสแพ้ยาสูง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากตรวจไม่พบความผิดปกติแล้วเราจะปลอดภัย 100% ไม่มีความร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว เราจึงต้องเริ่มยาในขนาดต่ำและระวังการแพ้ยาด้วยนั่นเอง .. โอเคนะ
allopurinol สามารถใช้ได้แม้แต่เป็นโรคไตเสื่อม เพียงแต่ต้องปรับขนาดยาให้ดี ยาตัวนี้ราคาถูก มีหมดทั่วทุกโรงพยาบาล หากคนไข้รู้จักสังเกตอาการแพ้ คุณหมอสามารถปรับยาได้ดี จะสามารถคุมระดับกรดยูริกในเลือดได้ถึงเป้าหมาย ลดโอกาสการเกิดโรคเกาต์กำเริบ ลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ขณะที่เราใช้ยาลดกรดยูริกตัวใดก็ตาม จะได้รับยาต้านการอักเสบควบคู่กันเพื่อลดการกำเริบ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าแม้อาการปวดจะหายแล้ว แต่คุณหมอยังให้ยาแก้ปวดขณะกินยาลดกรดยูริกอีก เพราะการเปลี่ยนแปลงระดับของกรดยูริกไม่ว่าขึ้นหรือลงจากเดิม อาจกระตุ้นให้ยูริกตกผลึกในข้อได้ครับ จึงให้กินยาต้านการอักเสบ ที่นิยมคือ colchicine ในช่วงลดกรดยูริกถึงจะไม่ได้ปวดก็ตามที
แล้วถ้าใช้ allopurinol ไม่ได้ หรือแพ้ยา หรือใช้แล้วลดกรดไม่สำเร็จตามเป้า เราจะทำอย่างไร
มาต่อตอนหน้าเนอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม