28 กันยายน 2560

การหยุดกินแอสไพรินจะเกิดอันตราย !!

เห็นข่าวพาดหัวนี้แล้ว ก็หยิบเอามาพูดสักหน่อย การหยุดกินแอสไพรินจะเกิดอันตราย !!
ข่าวนี้มีที่มาจากวารสาร circulation ฉบับเมื่อวานนี้ เมืองนอกนี่เร็วมากเลยนะครับ บอกว่าถ้าหากคุณกินแอสไพรินอยู่เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือด การไปหยุดกินมันอาจอันตรายขึ้นนะ เอาละ ลองลงไปดูเนื้อข่าวของ HealthDay ก็บอกว่าจากการศึกษาในสวีเดนติดตามผู้ป่วยกว่า 600,000 ราย เพื่อป้องกันโรค พบกว่ากลุ่มที่หยุดมีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดมากกว่ากลุ่มที่ไม่หยุด 37% เอาล่ะลงไปดูกันหน่อยในเว็บนี้บอกว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่กินแอสไพรินเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำนั้น หากหยุดจะอันตรายไม่ควรหยุด ในขณะที่เว็บไซต์ TIME ลงข่าวนี้แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นการป้องกันแบบก่อนเกิดโรคหรือหลังเกิดโรค
เมื่ออ่านข่าวนี้ จริงๆแล้วสั้นๆเท่าบทความของผมเองนะ ก็จะเลือกไม่หยุดยาเลย หรือ ไปซื้อหาแอสไพรินมากินและไม่หยุดเลย จริงหรือไม่ เรามาดูเรื่องราวกัน
การกินแอสไพรินเพื่อป้องกันโรคก่อนจะเกิดโรคไม่ว่าหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดที่ขา เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วว่าเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะการศึกษาที่ผ่านมาบอกว่าเกิดประโยชน์นะแต่ว่าไม่มากเลยซ้ำร้ายยังต้องรับความเสี่ยงเลือดออกอีกด้วย ส่วนการป้องกันหลังเกิดโรคได้ประโยชน์มากขึ้นชัดเจนแต่ความเสี่ยงเลือดออกก็ยังคงอยู่
ปี 2016 USPSTF ของอเมริกาประกาศการใช้แอสไพรินขนาดต่ำเพื่อการป้องกันโรคหลอดเลือดและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันแบบก่อนเกิดโรค คืออายุตั้งแต่ 50 ปี ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดมากกว่า 10% ใน 10 ปี และต้องเต็มใจและสามารถกินต่อเนื่องตลอด 10 ปี โดยที่ไม่มีความเสี่ยงเลือดออก และคิดว่าจะมีชีวิตยืนยาวอย่างน้อย 10 ปี ส่วนถ้าอายุมากกว่า 60 ปี ระดับคำแนะนำก็ลดลง ไม่หนักแน่นเหมือนอายุ 50 (กระทั่งข้อแรกก็ไม่ได้แนะนำเคร่งครัดนัก)
การศึกษาใน circulation ในปี 2017 ต้นปี ติดตามการใช้แอสไพรินแบบที่ว่านี้ในผู้ป่วยเบาหวานมา 13 ปีก็พบว่าไม่ได้เกิดประโยชน์มากขึ้นกว่าไม่ได้กินแต่อย่างใด
เอาล่ะถึงตอนนี้สรุปก่อนว่าการกินแอสไพรินเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคดูไม่ได้ช่วยมากมายนัก แล้วมาดูเนื้อข่าวกัน ข่าวบอกว่าถ้ากินอยู่แล้วหยุดแล้วโอกาสเกิดมากขึ้น
การศึกษาที่อ้างอิงนั้น เป็นการศึกษาแบบเฝ้าติดตาม ไม่ใช่การทดลองนะครับ ศึกษาทั้งป้องกันก่อนและหลังเกิดโรค โดยสัดส่วน 50-50 และศึกษาเฉพาะผู้ที่หยุดยาต่อเนื่อง พวกที่ยังมีการสั่งจ่ายยาหรือซื้อยา ไม่นับนะ พวกที่ต้องผ่าตัดใหญ่หรือเลือดออกก็ไม่นับนะ พวกที่เกิดโรคในปีแรกก็ไม่นับนะ เพราะว่าการศึกษาต้องการดูผลระยะยาว ถ้าพิจารณาจากการคัดเลือกกลุ่มที่ศึกษานี้ก็จะเห็นว่าหากเราเชื่อพาดหัวว่า อย่าหยุด สำหรับทุกคน ก็จะดูแปลความเกินจริงไปหน่อย เพราะการศึกษาเขาเอามาแต่คนที่ไม่เสี่ยง เสี่ยงน้อย (ก็ตัดกลุ่มเสี่ยงมากออกไปแล้ว) บางคนที่จำเป็นหรือเลือดออก มันก็ต้องหยุดนะครับ
อีกอย่างถ้าไปดูการศึกษาจริงๆ เอาคนที่เข้าเกณฑ์เพื่อเอามาคำนวนทางสถิติ 38,000 รายเท่านั้น และอายุเฉลี่ยทุกกลุ่มคือ 72 ปี เสี่ยงเลือดออกมากเลยนะ โดยเอากลุ่มที่เลือดออกหรือเสี่ยงออกไปก่อนแล้ว คือเอากลุ่มที่ไม่ค่อยมีประโยชน์จากยาออกไปแล้วนั่นเอง การไปหยุดยากลุ่มที่ "ได้" ประโยชน์จากยา ก็ดูไม่ได้แสดงภาพจริงในโลกแห่งความจริงเท่าไรนัก
แล้วถ้าหยุดไป ซึ่งมีคนที่หยุดแค่ 15% นั้นในกว่า 38,000 ราย เพิ่มอัตราการเกิดโรค 37% จากกลุ่มที่ไม่หยุด...ย้ำจากกลุ่มที่ไม่หยุดนะครับ ไม่ใช่จากทั้งหมด .. คิดคำนวนออกมา หากหยุดยา 74 คน จึงจะเกิดเหตุการณ์โรคหลอดเลือดขึ้น 1 คนต่อหนึ่งปี ก็ไม่ได้มากนะครับ แต่ว่าเมื่อคิดคำนวนทางสถิติออกมาแล้วมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มที่กินก่อนเกิดโรค เกิดโรคมากกว่าไม่กิน 28% ส่วนพวกที่กินหลังเกิดโรค เกิดโรคหากหยุดไปเมื่อเทียบกับกินต่อ 46% (เฉลี่ยรวม 37%)
แปลว่า หากจำเป็นต้องกิน การไปหยุดยา โดยไม่จำเป็นนั้นเกิดโทษแน่ๆ เพียงแต่อัตรามันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่มากนัก เพราะสัดส่วนปัญหาและคำแนะนำมันน้อยมาตั้งแต่แรก
นิทานเรื่องนี้อาจฟังยากไปนิด แต่อยากจะบอกว่า การเห็นพาดหัว..ไม่พอ อย่าตกใจ การเห็นเนื้อข่าว...ไม่พอ อย่าตกใจ ควรไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้วย เราก็จะรู้ว่า ไม่ใช่ห้ามหยุดและไม่ใช่ "ต้องไปหามากิน"
แต่สอนเราว่า ควรคัดเลือดคนที่ต้องกินแอสไพรินให้ดี เลือกเฉพาะกลุ่มที่มีประโยชน์ หากถ้าจำเป็นต้องหยุดจากการผ่าตัดหรือเลือดออกก็พิจารณาหยุดได้ และในกลุ่มที่คัดเลือกแล้วว่ามีประโยชน์ การไปหยุดอาจเกิดโทษ (ถ้าจะชัดๆ ก็ต้องรอการศึกษามากกว่านี้ เพราะการศึกษานี้ยังมีความโน้มเอียงและตัวแปรปรวนอีกมาก) ควรปรึกษาแพทย์ที่สั่งจ่ายยาหากคุณต้องการจะหยุดยา ว่าประโยชน์และโทษ เทียบกันแล้วเป็นอย่างไร
อย่างทีเคยนำเสนอ สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่ สิ่งที่เป็น
ที่มา
Circulation September 26, 2017, Volume 136, Issue 13
Final Recommendation Statement Aspirin Use to Prevent Cardiovascular Disease and Colorectal Cancer: Preventive Medication 2016
Circulation. 2017;136:1183–1192.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม