12 กันยายน 2560

สรุปอาหาร 2017 ตอนที่ 1

สรุปเลยนะ อ่านรวมมาจากทั้ง ASPEN,ESPEN,AHA/ACC,ESC,และอื่นๆ รวมทั้งงานบรรยาย nutrition review ล่าสุด โดยสมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย มีอะไรที่ประชาชนอย่างเราๆควรทราบและเพื่อปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง
 ข้อมูลทั้งหมดมาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และสถิติที่รวบรวมและคิดค้นมาเพื่อประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยและประชาชน ความรู้เดิมที่อาจเปลี่ยนแปลงเพราะข้อมูลที่ดีกว่า เพราะความรู้ทางการแพทย์คือวิทยาศาสตร์และสถิติอย่างหนึ่ง ว่าด้วยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และยืนยันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ทางสถิติการแพทย์
ดังนั้นอย่างที่อาจารย์ 1412 เคยกล่าวเอาไว้เรื่องนี้ขอให้เชื่อไปเลย เพราะว่าจริงๆผ่านการทบทวน การทำซ้ำ การบรรยาย การถกเถียงต่างๆ โดยผู้รู้ที่ไม่มีใครยอมกัน นั่นหมายถึงกว่าจะออกมาได้ กลั่นกันออกมาเลยทีเดียว
แนวทางอาหารในยุคปัจจุบัน เน้นความสมดุลคือกินครบส่วนและหลีกเลี่ยงอาหารที่พิสูจน์แล้วว่าเกิดผลเสีย กินอาหารที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมแปรรูปลดลง ลดเกลือ
ที่บอกว่าเกิดผลเสีย ในทางคลินิกหมายถึง ในทางที่ส่งผลต่อ "คน" ไม่ใช่แค่ผลในหลอดทดลอง เช่นตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การกินไขมันอิ่มตัว จริงอยู่มีรายงานว่าการกินไขมันอิ่มตัวเพิ่มไตรกลีเซอไรด์ และหากกินเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนคาร์โบไฮเดรต สัดส่วนที่พลังงานเท่ากัน พบว่าลด LDL ลงได้ 3-4% และเพิ่ม HDL เล็กน้อย แต่ว่าการเพิ่มขึ้นของ HDL และการลดของ LDL นี้ไม่มากพอที่จะไปเปลี่ยนแปลงอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ซ้ำในทางตรงข้ามเราพบว่าไขมันอิ่มตัวที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นและถ้าเราลดลง สัดส่วนโรคหัวใจก็ลดลง
แม้ตัวเลขเปลี่ยนไปทางที่น่าจะดี แต่มันไม่เกี่ยวกับผลลัพธ์โดยตรงนั่นเอง และบางทีดีส่วนนี้ก็อาจแย่ในอีกหลายๆส่วน บวกลบกันแล้ว ผลลัพธ์จึงไม่ได้ดีดังที่คาด (เพราะคาดแค่มิติเดียว ประเด็นเดียว)
เราคงเข้าใจแล้วนะครับว่า ตัวเลขต่างๆ (surrogate) ที่ใช้บอกทางอ้อมของโรคหัวใจและหลอดเลือด มันเป็นแค่ตัวเลขปัจจัยเดียว อาหารและไขมันรวมทั้งโรคหลอดเลือดยังมีปัจจัยอื่นๆอีก ดังนั้นการดูผลภาพรวมจึงสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เห็นตัวเลขลดลงจะไปบอกว่าอัตราการเกิดโรคและเสียชีวิตจะลดลงตรงๆแบบนั้น มันไม่ถูกตามหลักการทางสถิติครับ
เอาละ ว่ากันถึงเรื่องคร่าวๆก่อน แนวคิดคือ พลังงานต้องไม่เกินกำหนด กินพลังงานมากเกินก็จะอ้วนและมีผลเสียต่อระบบเผาผลาญร่างกายทำให้ป่วยได้มากขึ้น อันนี้สำคัญนะครับ โดยทั่วไปเรากินอาหารจนได้พลังงานเกินกว่าที่ต้องใช้มากมาย การกินที่ถูกจึงไม่ใช่ว่าฉันจะกินเท่านี้ แล้วไปออกกำลังเผาออก เราต้องคิดว่าต่อวันเราใช้พลังงานเท่าไร แล้วกินเท่านั้น ในกรณีออกกำลังกายอาจต้องเพิ่ม เราจะกินอาหารให้พลังงานลดลงในกรณีต้องการลดน้ำหนักครับ
แล้วค่อยมาพิจารณาสัดส่วนอาหารว่าควรกินสารอาหารใด ปริมาณเท่าไร อันนี้เนี่ยมันเป็นรูปแบบเฉพาะแต่ละคนนะครับ แต่ละเชื้อชาติ แต่ละสถานที่ ตลาดต่างกัน อาชีพ อายุ โรคร่วมต่างๆที่ต่างกัน ย่อมมีการกำหนดที่ต่างกัน ไม่สามารถแทนกันได้ แต่หลักการคร่าวๆสำหรับผู้ที่ไม่ป่วยนะครับ สุขภาพยังดี แนวทางการกินของอเมริกาและยุโรป ผมว่าดี คล้ายๆกับแนวทางโภชนาการบ้านเรา
👍👍👍และจริงๆแล้วอาหารไทยเรา คลีน กว่า ดีกว่าอาหารตะวันตกนะครับ อาหารฝรั่งนั้น เค็มกว่า ไขมันมากกว่า ผักน้อยกว่า
กินเนื้อแดงลดลง..ลดลงนะครับ ไม่ใช่งดหรือห้าม สัดส่วนไปเพิ่มเนื้อสัตว์ปีกและปลาแทน ปลาเพิ่มเป็นปลาทะเลและสัตว์ทะเลสักหนึ่งถึงสองส่วนต่อสัปดาห์ก็พอ กินธัญพืชเพิ่มขึ้น เป็นข้าวกล้องก็ได้ กินผักเพิ่มขึ้น ผลไม้เพิ่มแต่พอเหมาะเพราะน้ำตาลสูงเหมือนกัน ลดไขมันคือ ไขมันจากสัตว์และไขมันทรานส์ พวกทอดหลายรอบ มาร์การีน
ลดเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ลดเกลือ อาหารดัดแปลงลง ไม่ได้หมายถึงกินไม่ได้นะครับ กินได้แต่ควรลดสัดส่วนลง เรื่องไข่ เรื่องน้ำมันมะพร้าว ผมเขียนไปหลายรอบแล้ว
จึงไม่มีสูตรอาหารที่เป็นสูตรวิเศษ ใช้ได้กับทุกคน มีแต่สูตรที่เป็น มัชฌิมาปฏิปทา สำหรับคนผู้นั้น
ตอนต่อไป พบกับ อาหารและการคุมน้ำหนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม