02 กันยายน 2560

มะเร็งที่ไต

มะเร็งที่ไต .. ดูเหมือนพบไม่มาก ก็จริงนะครับ พบไม่มากคือไม่ได้มากและเป็นปัญหาเท่า ปากมดลูก นม ลำไส้ ปอด ตับ วันนี้เราจะมา "ง่ายนิดเดียว" มะเร็งไตกัน อาจจะมีศัพท์แสงต่างๆบ้าง แต่ไม่เป็นไรมันเป็นชื่อเฉพาะที่ยกมาให้เข้าใจและครบเท่านั้นครับ
มะเร็งไต ภาษาเพราะของเขาชื่อ Renal Cell Carcinoma ส่วนมากที่ไตมักจะเป็นมะเร็งจากต้นกำเนิดเซลที่ไตเอง มากกว่าจะแพร่มาจากที่อื่นๆ กลุ่มอายุเป็นได้ทุกๆอายุเลยนะครับ สามารถพบได้หมดโดยพบในผู้ชายมากกว่าหญิงเล็กน้อย
ถามว่ามีปัจจัยเสี่ยงไหม ปัจจุบันไม่มีข้อมูลชัดๆว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่มีน้ำหนักข้อมูลมากพอ ที่จะบอกว่าใช่ อันนี้คือปัจจัยเสี่ยงแบบภายนอกนะครับ แต่ปัจจัยเสี่ยงภายในที่พิสูจน์แล้วว่าเกี่ยวข้องแน่ๆ คือประเด็นทางโครงสร้างของสารพันธุกรรม
เราสามารถพิสูจน์รหัสยีนที่ผิดปกติ อันสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งไตในชนิดต่างๆที่ชัดเจน ในเซลล์มะเร็งชนิด clear cell (พบมากสุด) ก็มีความสัมพันธ์กับ ยีน PBRM1 และ SETD2 อันดับสองที่พบคือ papillary cell มีกลุ่มย่อยสองกลุ่มก็เกิดจากรหัสยีนที่ผิดปกติ MET-proto-oncogene, FH gene และอันดับสาม Chromophobe cell ก็มีความสัมพันธ์กับ การที่โครโมโซมขาดหายไปบางส่วน
เราทราบข้อมูลตรงนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค บอกแนวโน้มว่าดีหรือร้าย และสามารถสร้างยาที่ไปออกฤทธิ์เฉพาะที่จุดผิดปกตินี้เท่านั้น ไม่ไปยุ่งกับเซลอื่นๆ เรียกว่า cancer precision medicine ปัจจุบันมียาที่ออกฤทธิ์เฉพาะจุดในการรักษามะเร็งไตออกมาแล้ว แต่ยังแพงมาก
อาการที่พบบ่อยและคลาสสิก คือ ปวดสะเอว ..คือตรงที่ยืนเท้าเอวน่ะครับ อาการปัสสาวะมีเลือดปนหรือปัสสาวะเป็นเลือด และคลำก้อนได้ที่ท้อง สามอาการนี้เรียกว่าสามอาการคลาสสิกเลย และอาจมีอาการอื่นๆ กดเบียดท่อปัสสาวะ ติดเชื้อ ความดันขึ้น เกลือแร่แคลเซียมในเลือดสูง ไข้เรื้อรัง ไตวาย
เอ๊ะดูอาการอื่นๆ ไม่น่าเกี่ยวข้องกับไตได้ ...มะเร็งไตนั้น สามารถหลั่งสารเคมีหรือฮอร์โมนที่ "คล้าย" ของร่างกายเรา แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว ทำให้เกิดอาการกับอวัยวะอื่นได้เรียกว่า paraneoplastic symdrome
เมื่อมีอาการสงสัยตรวจร่างกายพบ ก็จะยืนยันด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์ที่มีได้หลายแบบอาจฉีดสี ใส่สายสวน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และทำการตัดชิ้นเนื้อโดยเจาะไตหรือการส่องกล้อง และกำหนดระยะของโรคผ่านระบบ TMN คือดูขนาดก้อน การลุกลาม ต่อมน้ำเหลืองที่ผิดปกติและการแพร่กระจาย ในกรณีระยะหนึ่งและสองนั้น อัตราการอยู่รอดหลังรักษาที่ห้าปีนั้น สูงมากถึง 80-90% ระยะสามที่ประมาณ 60% ส่วนระยะลุกลามแพร่กระจายอัตราการอยู่รอดที่ห้าปีแค่ 10-15% เท่านั้น
การรักษาหลักคือผ่าตัดออก อาจจะตัดเนื้อไตทั้งหมด (radical) หรือแค่บางส่วน ที่ถือเป็นหลัก การศึกษาพบผลดีและผลเสียของสองวิธีพอๆกัน การพิจารณาวิธีใดก็ต้องขึ้นกับระยะของโรค ขนาดก้อนและตำแหน่งรวมทั้งถ้าจะเก็บไตเอาไว้ก็พิจารณาว่าเนื้อไตส่วนที่เหลือสามารถทำหน้าที่ได้หรือไม่ด้วย อาจใช้การผ่าตัดส่องกล้องแทนได้และปัจจุบันในเมืองไทยก็มีการส่องกล้องผ่านระบบหุ่นยนต์ (robotic laparoscopy) ที่ผลการรักษาดีขึ้นอีกด้วย
การให้ยาเคมีบำบัดทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ยังได้ผลไม่ดีนัก ไม่ได้แนะนำเป็นมาตรฐานครับ สำหรับการรักษาโดยใช้ยา เราจะใช้ยาที่เรียกว่า การรักษาตรงเป้า ตามจุดยีนและโปรตีนที่กลายพันธุ์หรือผิดปกติ เรียกว่า ติดอาวุธนำวิถีไปที่เซลมะเร็งเท่านั้น ก็จะเลือกใช้ในรายที่ผ่าไม่ได้ หรือลุกลามแพร่กระจาย
เป็นยาที่ใช้หยุดยั้งการเจริญของเซลบุหลอดเลือด แบบรับประทาน (VEGF receptor inhibitors) ทั้งสี่ตัว sorafenib, sunitinib, pazopanib, and axitinib และยาที่เป็นโครงสร้างภูมิคุ้มกันของเรามาดัดแปลง ฉีดทางหลอดเลือด (VEGF inactivating antibody) bevacizumab
ชื่อก็ยาก แถมแพงมากอีกด้วย การรักษาก็ยังไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมได้มากเพราะจะให้ในโรคระยะลุกลามอยู่แล้ว แต่จะเพิ่ม "เวลา" มากขึ้นที่จะอยู่ได้แบบโรคไม่ลุกลาม
ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งมะเร็งที่ตอบสนองการรักษาและมีแนวทางการรักษาที่ดีนะครับ ไม่ใช่ว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตายจากโรคมะเร็งทุกคน หรือต้องทุกข์ทรมานมากๆแบบอดีตกาลอีกแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม