24 กันยายน 2560

เซอร์วิลเลี่ยม ออสเลอร์ (William Osler)

หนึ่งในสี่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ผู้ก่อตั้งโรงเรียนที่ยิ่งใหญ่ คุณคิดถึงใคร...
ก็อดดริก กริฟฟินดอร์, โรเวนา เรเวนคลอ, เฮลกา ฮัฟเฟิลพัฟ หรือ ซาลาซาร์ สลีธรีลิน
ไม่ครับ..หนึ่งในสี่ผู้ก่อตั้งผู้ยิ่งใหญ่ คือ เซอร์วิลเลี่ยม ออสเลอร์ (William Osler) ผู้ก่อตั้ง John Hopskins Medical School ผู้เป็นปรมาจารย์ของ clinical medicine และ father of modern medicine
ออสเลอร์ เกิดที่ประเทศแคนาดาเมื่อปี 1849 โดยบรรพบุรุษของออสเลอร์อยู่ที่อังกฤษ บิดาเป็นทหารเรือแห่งกองทัพอังกฤษ สมัยนั้นยิ่งใหญ่มาก ครอบครัวออสเลอร์ย้ายรกรากมาอยู่ที่แคนาดา ประวัติการย้ายครอบครัวโลดโผนมาก เดินทางและเรือแตกด้วย แต่สุดท้ายก็มาตั้งรกรากที่แคนาดา
สมัยเด็กออสเลอร์เข้าเรียนที่ trinity college of canada หลังจากนั้นก็เข้าเรียนแพทย์จนจบการศึกษาที่ Toronto School of Medicine และ Mcgill University ในปี 1879
หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ยุโรป กลับมาเป็นครูอยู่ที่ Mcgill University และ ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่ University of Pensylvania ขณะที่ อยู่นี่ท่านได้สร้างชื่อเสียงมากมาย จนเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง American Associations of Physicians
และในปี1889 ออสเลอร์ตัดสินใจรับตำแหน่งที่โรงพยาบาลจอห์น ฮอปสกินส์ รัฐแมรี่แลนด์
โครงการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะไม่มีสตางค์ และตอนนั้นความนิยมการเรียนแพทย์อยู่ที่เยอรมันและฝรั่งเศส แม้ว่ามหาวิทยาลัยตั้งมาตั้งแต่ 1876 โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ก็ยังไม่ก้าวหน้านัก
ท่านออสเลอร์รับตำแหน่งผอ.โรงพยาบาล อันนี้กินเงินเดือน และในขณะเดียวกันรับตำแหน่ง หัวหน้าการฝึกสอนด้วยซึ่งไม่รับเงินเดือนในตำแหน่งนี้ เข้าใจง่ายๆก็ตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนแพทย์และคณบดีคณะแพทย์ควบกันนั่นเอง
ด้วยความร่วมมือ ของ William Henry Welch (พยาธิแพทย์), Wilson Stewart Halsted (ศัลยแพทย์), Howard Kelly (สูติแพทย์) อีกสามผู้ยิ่งใหญ่ในการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์จอห์น ฮอปสกินส์ ส่วนชื่อ จอห์น ฮอปสกินส์ คือชื่อของพ่อค้าและนายธนาคารผู้มั่งคั่งแห่งบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ ผู้บริจาคเงินก้อนแรกกว่า 7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ในปี 1873 หรือ ปี 2416 สมัยต้นรัชกาลที่ห้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เงินเจ็ดล้านดอลล่าร์นี่มหาศาลเลยนะครับ)
ตำราที่ออสเลอร์แต่งขึ้นและใช้เมื่อเริ่มดำเนินคณะแพทย์คือ The Principle and Practice of Medicine ที่สอนการเรียนแพทย์ในแบบใหม่และปฏิวัติการสอนแพทย์ในรูปแบบใหม่ครับ... และตำรานี้เล่มเป็นๆ ผมก็ได้มาครอบครองแล้ว สัญญาว่าจะมาเล่าให้ฟังแน่นอน...
เรามาดูว่า ออสเลอร์ ทำอะไรบ้าง
1. เปลี่ยนการเรียนจากในห้องเรียน จากการเรียนจากตำรา การบรรยาย ออกมาสอนข้างเตียง คำว่าสอนข้างเตียงคือ เรียนรู้จากคนไข้ที่หอผู้ป่วยใน ตึกผู้ป่วยนอก ลักษณะจากปัญหาเป็นที่ตั้ง แล้วเชื่อมโยงความรู้มาอธิบาย เป็นการเรียนจากของจริง สอนให้เห็นคนไข้จริง
2. เริ่มระบบฝึกการทำงานบนหอผู้ป่วย นักเรียนแพทย์ต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย เขียนรายงาน ทำแล็บเบื้องต้นเอง เก็บปัสสาวะไปตรวจ เก็บอุจจาระไปตรวจ ตรวจนับเม็ดเลือดโดยเอาเลือดมาสเมียร์ ย้อมสี อ่านค่า และ แปลผล รับมอบหมายผู้ป่วยแบบเจ้าของไข้
โดยทำงานเป็นทีมกับแพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ เวลา ราวด์วอร์ด
3. เริ่มระบบแพทย์ประจำบ้าน คือ คุณหมอที่ต้องการฝึกฝนเป็นแพทย์เฉพาะทางต้องพักอาศัยในโรงพยาบาล พร้อมจะถูกตาม จัดการปัญหาตลอด เรียนรู้สถานการณ์และเหตุการณ์ที่จะเกิดกับผู้ป่วยตลอดเวลา
4. ใช้การเวียนแบบ rotation คือ สลับกันไปในการเรียนกองต่างๆ อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
สอนการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อที่จะนำพาไปสู่การวินิจฉัย จนได้ชื่อว่า diagnostictian เลยทีเดียว ดู-คลำ-เคาะ-ฟัง ซักประวัติ จับจุดต่างๆ อาศัยความรู้ในสารพัดศาสตร์มาช่วย (ท่านอ่านมาก และ ส่งเสริมการเรียนในห้องสมุด) การให้ความเห็นของท่านตรงจุดตรงเป้า แต่สุภาพและอ่อนโยน ท่านกระตุ้นให้คิด ส่งเสริมงานวิจัย
มีการเชิญนักเรียนไปกินอาหารค่ำและกาแฟ จำแบบที่ศาสตราจารย์สลักฮอร์นในเรื่องแฮรรี่พ๊อตเตอร์ได้ไหมครับ แบบนั้นเลย เพื่อสอนแบบ ไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับความรู้ที่เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มาอธิบายทางการแพทย์ให้เข้าใจง่าย ไม่ลืม รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีในทีม ทั้งระหว่างนักเรียน อาจารย์ และแพทย์ด้วยกัน แถมให้ใช้ห้องสมุดส่วนตัวที่บ้านในการค้นคว้าเรื่องราวต่างๆทั้งทางการแพทย์และเรื่องอื่นๆมากมาย
เป็นบรรยากาศการเรียนที่น่าเรียนมากเลยนะครับ ชีวิตไม่เร่งรีบ บรรยากาศคลาสสิก ถกเถียงกันเชิงวิชาการ จบด้วยบรรยากาศแบบพี่น้อง
บั้นปลายชีวิต ท่านไปเป็น ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เรียกว่าออกจากคอมฟอร์ตโซน ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษา ไม่ได้เป็นผู้จัดการ ผู้บริหาร ผู้สอน ไม่เครียด ผู้เขียนอัตชีวประวัติของท่านบอกว่า บั้นปลายชีวิตท่านนั้น Burn Out เช่นกัน
บั้นปลายชีวิตท่านเสียชีวิตที่ออกซฟอร์ด เนื่องจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในการระบาดอันโด่งดัง Spanish Flu เมื่อ 29 ธันวาคม 1919
อัตชีวประวัติของท่าน ได้รับการบันทึกและเผยแพร่โดย Harvey Chshing ศัลยแพทย์ระบบประสาทผู้ค้นพบและตั้งชื่อ Cushing's syndrome นั่นเอง
ผลงานของท่านได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ Osler Library of Mcgill University เช่นเดียวกับเถ้ากระดูกของท่านและศรีภรรยา Lady Osler เพราะท่านได้รับพระราชทานตำแหน่ง เป็น ท่านเซอร์ จากผลงานอันอมตะของท่านนั่นเอง
ฝากท้ายด้วยประโยคอมตะของท่าน ที่ควรยึดถือไว้ตลอดเวลาที่เป็นแพทย์
He who studies medicine without books sails an uncharted sea, but he who studies medicine without patients does not go to sea at all.
The good physician treats the disease; the great physician treats the patient who has the disease.
ภาพจาก wikipedia ให้ทายว่าท่านใดคือ Sir William Osler

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม