21 กันยายน 2560

มะเร็งช่องปาก ที่สัมพันธ์กับการเคี้ยวยาเส้น

มะเร็งช่องปาก ที่สัมพันธ์กับการเคี้ยวยาเส้น
รายงานภาพจากวารสาร NEJM ฉบับวันนี้ เป็นผู้ป่วยหญิงชาวอินเดีย อายุ 54 ปี เธอพบมีก้อนแข็ง เจ็บ ที่บริเวณด้านในของฟันกราม เจ็บๆบวมๆ มาเป็นปี ก็มาพบทันตแพทย์
คุณหมอตรวจพบ ก้อนลักษณะก้อนนูน ผิวขรุขระมาก ขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร จึงตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ ผลก็พบดังภาพนะครับ
ลักษณะของมะเร็งเยื่อบุผิว ที่เรียกว่า Squamous Cell Carcinoma สะความัสเซล คือ เซลบุผิวต่างๆนะครับ ในช่องปากเราก็เป็นสความัสเซล คล้ายๆผิวหนัง แต่ในช่องปากไม่มีเคอราตินหนาๆ เหมือนที่ผิวหนังด้านนอก
ก้อนกลมๆที่ลูกศรชี้ เรียกว่า keratin pearl ที่เป็นก้อนของเคอราตินที่หนาตัวพอกขึ้น และมีจุดเชื่อมต่อเซลที่ผิดปกติไป เกิดเป็นก้อนม้วนๆ แทนที่จะแผ่ออกแนวราบ ก็เป็นลักษณะที่ชวนคิดถึง squamous cell carcinoma ไม่ได้จำเพาะและพบไม่บ่อยนะครับ แต่จะช่วยในการวินิจฉัยและแยกระยะความรุนแรงของมะเร็งได้
และปัจจุบันยังพบว่า keratin pearl ยังสัมพันธ์กับความผิดปกติของยีน ส่วน mRNA expression K17 และ K13 ที่อาจช่วยเราตรวจจับมะเร็งระยะต้นๆได้ (งานวิจัยยังเป็นขั้นทดลองกับเซลเพาะเลี้ยง)
ประเด็นคือ เธอมีประวัติเคี้ยวใบยาสูบมากกว่าวันละห้ารอบ มามากกว่า 10 ปี !! โดยเธอจะเอาใบยาม้วนๆ ไปซุกตรงที่เกิดโรคนั่นแหละครับ เคี้ยวๆเพลินๆ ไปเรื่อยๆ
เราทราบกับมานานแล้วว่าบุหรี่เป็นความเสี่ยงประการหนึ่งที่สำคัญในการเกิดมะเร็งช่องปาก แต่กับรายนี้ไม่ได้เกิดจากการสูบแบบเผาไหม้ แต่เกิดจากการเคี้ยวยาเส้น
จริงอยู่ว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็งอาจไม่ใช่สาเหตุเดียวตรงๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญและมีน้ำหนักมากทีเดียว
ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดและซ่อมแซมช่องปาก โชคดีที่ไม่ลุกลามและตัดได้หมด ติดตามไปสองปีก็ยังไม่กำเริบ แน่นอนเธอเลิกเคี้ยวยาเส้นไปเลย
แล้วคุณที่ยังสูบบุหรี่อยู่ล่ะ ... จะหยุดก่อนเป็น หรือ จะเป็นก่อนหยุด
ที่มา
anay V. Chaubal, M.D.S.
Padmashree Dr. D.Y. Patil University, Navi Mumbai, India tanayvc@gmail.com
Renjeet A. Bapat, M.D.S.
International Medical University, Kuala Lumpur, Malaysia
N Engl J Med 2017; 377:1188
Oral Oncol. 2011 Jun;47(6):497-503
J Cell Physiol. 2013 Oct;228(10)
William W. Johnston, Craig E. Elson, in Comprehensive Cytopathology (Third Edition), 2008

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม