28 กุมภาพันธ์ 2560

พยาธิใบไม้ตับ liver flukes

พยาธิใบไม้ตับ liver flukes

พยาธิเจ้าถิ่นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พยาธิที่เลือกแดนอีสานบ้านเราเป็นเมืองหลวง พยาธิที่เรารู้แต่ไม่ค่อยกลัว
ผมว่าพวกเราทุกคนรู้จักพยาธิใบไม้ในตับกันทุกคน จากการให้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 30 ปีหลังมานี้ ทราบว่าอย่ากินปลาดิบ ทราบว่าเป็นมะเร็ง..แต่ทำไมเรายังพบอยู่ตลอด เพราะเรามักเข้าใจผิดว่า ปลาส้ม ปลาจ่อม ปลาร้า มันไม่มีพยาธิ ลาบปลา ก้อยปลา ที่ใส่เหล้า บีบมะนาว มันฆ่าพยาธิได้นั่นเอง มันไม่ใช่ มันไม่จริง มันไม่ได้ ต้องทำสุกเท่านั้นนะครับ

พยาธิใบไม้ในตับ ชื่อเพราะๆของมันคือ Opisthorchis viverrini (ดูปากนิชานะคะ โอ-พิส-โท-คีส ฟวิ-เฟวอร์-ริ-นี่ ตรง..เฟวอร์..ให้ออกเสียงเหมือนวู้ดดี้เวลาโฆษณากระทะ..เฟอรรรรร)

กลุ่มพยาธิตัวแบน ที่พักอาศัยที่เป็นที่อยู่ปัจจุบัน เป็นภูมิลำเนาเลย คือ ทางเดินน้ำดีของมนุษย์ แมว หมา มันก็จะเติบโตออกลูกออกหลานกันในทางเดินน้ำดีเรานี่แหละครับ แถมตัวมันมีทั้งอัณฑะและรังไข่สมบูรณ์ในตัว ไม่ต้องกลัวโดนเท ได้มีลูกแน่ๆ ไข่พยาธิของมันก็อาจหลุดออกมาทางลำไส้ปะปนมากับอุจจาระ ..ตรงนี้เราก็จะตรวจพบได้..หลุดมาอยู่ในแหล่งน้ำ
มันจะมีเจ้าหอยน้ำจืดที่ชื่อว่า หอยไซ Bithynia มีมากมายตามแหล่งน้ำธรรมชาติตัวเล็กมากขนาดหัวเข็มหมุดถึงลูกปัดเท่านั้น ระยะนี้จะยังไม่ติดต่อไปถึงคนนะครับ ตัวอ่อนระยะนี้อาศัยอยู่ในหอยจนแข็งแรงดี แล้วก็จะออกจากตัวหอย คราวนี้มันแกร่งพอที่จะว่ายน้ำเองไปหาเจ้าปลาน้ำจืดตระกูลปลาตะเพียน ปลาแก้มช้ำ ปลาขาว ที่ชาวอีสานบ้านเฮาชอบเอามาทำอาหาร มันว่ายน้ำไปไชชอนฝังตัวอยู่ในเนื้อปลาในรูป ซีสต์ ฝังตัวเงียบๆนิ่งๆ รอคนจับปลาไปทำอาหาร

ถ้าสุก…มันตายเรียบครับ แต่ถ้ากินดิบๆสุกๆ เมื่อเนื้อปลาลงไปสู่ลำไส้ มันจะแตกออก..หึหึ..มันจะตื่นจากจำศีล..เดินทางเข้าสู่ท่อน้ำดีจากรูเปิดที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (ไม่รู้มันไปเรียนกายวิภาคมาตอนไหน) เข้าสู่ที่ชอบที่ชอบ ออกลูกหลานกันต่อไป
เมื่อมีการติดเชื้อเราเชื่อว่า ปริมาณมากๆ ทำให้อุดตันได้ และการอักเสบเรื้อรังผ่านสารอักเสบที่เป็นสารก่อมะเร็ง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เซลเยื่อบุทางเดินน้ำดี เจริญเติบโตผิดปกติจนหยุดยั้งไม่ได้ กลายเป็นทางเดินน้ำดีอักเสบและอุดกั้นเรื้อรัง สุดท้ายก็กลายเป็นมะเร็งทางเดินน้ำดี

ตั้งแต่ปี 2470 ที่ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรหมมาศ พบพยาธิในท่อน้ำดีในศพชาวอีสาน หลังจากนั้นก็ได้ศึกษามาเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2506 อาจารย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ และอาจารย์ณัฐ ภมรประวัติ ได้เดินหน้าศึกษาว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับตัวนี้เป็นสารก่อมะเร็ง จนได้รับการพิสูจน์และยืนยันว่า เจ้า O.viverrini นี้เป็นสารก่อมะเร็งทางเดินน้ำดีอย่างชัดเจน

การตรวจทำได้โดยการตรวจอุจจาระ และตรวจเลือดหาสารองค์ประกอบหรือปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกัน การตรวจอุจจาระทำได้ง่ายและราคาถูกที่สุดก็จะพบไข่พยาธิครับ เมื่อพบให้กำจัดดัวยยา praziquantel ขนาด 75 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน แบ่งให้สามเวลา โดยกินพร้อมอาหารและดื่มน้ำตาม ใช้เวลารักษา 2 วัน โอกาสหาย 91-95% ในอีกสี่สัปดาห์ลองตรวจอุจจาระถ้ายังพบไข่พยาธิให้กินยาซ้ำอีกครั้งครับ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องเลิกกินปลาดิบด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นก็ไม่หายแน่นอน

-บทความ พยาธิใบไม้ตับ จากเว็บไซต์คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
-บทความเรื่อง พยาธิใบไม้ตับ ของ อ.คม สุคนธสรรพ์ คณะแพทย์เชียงใหม่
-สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
-พยาธิใบไม้ตับในไทย จาก วารสารวิชาการ ม.อุบลฯ โดย อ.ณัฐวุฒิ แก้วพิทูลย์
-Center of Disease Control ,USA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม