10 กุมภาพันธ์ 2560

วัคซีน 2017 ตอนที่หนึ่ง

ฉีดวัคซีนอะไรดี..สำหรับผู้ใหญ่นะ

ในทุกๆปี สมาคมแพทย์ต่างๆของอเมริกาโดยการนำของ american colleges of physicians และ center of disease control จะออกประกาศวัคซีนที่ควรได้รับในแต่ละปีออกมา ที่ต้องออกทุกปีเพราะการศึกษาเรื่องวัคซีนมีออกมาตลอด แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนทุกปี เขาจะเน้นจุดที่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วมาให้ ทางองค์การอนามัยโลกก็เอาไปประกาศใช้เช่นกัน ในประเทศไทยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ได้รวบรวมข้อมูลประกาศออกมาเป็นแนวทางในปี 2555 ที่ผมว่าข้อมูลก็อาจไม่ได้เปลี่ยนมากนัก ผมจะยึดแนวทางของไทยก่อนนะครับ และจะเสริมที่เปลี่ยนแปลงในปี 2017 ให้ แต่เบื้องต้นจะกล่าวถึงแค่วัคซีนที่ควรได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข และผมลิงค์เอาไปดาวน์โหลดไปติดที่โต๊ะทำงาน เอาไว้ดูเวลาสงสัย ไม่มีใครจำได้หมดหรอกครับ

1.ไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดทุกคน ทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง กลุ่มเสี่ยงมากคือ เด็ก สูงอายุ โรคปอด โรคหัวใจ บุคลากรการแพทย์ ในปีนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีนตัวตายเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนตัวเป็นแบบพ่นจมูก แพ้ไข่ก็ฉีดได้แต่ต้องเฝ้าอาการแพ้นิดนึง (ปัจจุบันเป็น recombinant คือสร้างขึ้นมาโดยไม่ผ่านไข่) จะสามหรือสี่สายพันธุ์ ก็ได้ครับ

2.คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เคยมีนั้นจะลดลง จึงแนะนำให้ ฉีดทั้งสามตัวหนึ่งครั้ง และกระตุ้นด้วย คอตีบ บาดทะยักทุกสิบปี หญิงตั้งครรภ์ให้ฉีดคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หนึ่งครั้งทุกๆการตั้งครรภ์

3.หัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) ถ้ายังไม่เคยฉีดแนะนำให้วัคซีน (ยุคหลังๆนี้ฉีดกันทึกคนตามโปรแกรมวัคซีน) หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ประวัติไม่ชัดว่าเคยได้ให้ฉีด 1 เข็ม หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยฉีดเมื่อจบการตั้งครรภ์ให้ฉีดหนึ่งเข็ม ส่วนคนที่ได้วัคซีนแล้วหรือมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นโรคแล้ว ไม่ต้องให้วัคซีน ถ้าก้ำกึ่งอาจตรวจระดับภูมิคุ้มกันก่อน แนวทางไทยให้พิจารณาจนถึงแค่ 26 ปี แต่ใน ACIP 2017 ขยายเป็นถึง 60 ปี

4.ไวรัสแปปิลโลมา หรือ มะเร็งปากมดลูก..เป็นคำพูดที่ผิด เรากันไวรัสแปปิลโลมามากกว่าครับ แต่ไวรัสแปปิลโลมามันเป็นสาเหตุ..หลัก..ของมะเร็งปากมดลูก แนวทางไทยให้ฉีดในหญิงก่อนอายุ 26 หรือยังไม่มีเพศสัมพันธ์ อื่นๆเป็นทางเลือก ใน ACIP 2017 ให้เด็กชายที่อายุไม่เกิน 22 ปีหรือยังไม่มีเพศสัมพันธ์
ข้อเปลี่ยนไปสำหรับปีนี้คือ ถ้าใครทีเริ่มฉีดก่อนอายุ 15 อาจจะฉีดแค่ 2 เข็มพอ แต่ถ้าเริ่มหลังอายุ 15 ต้องสามเข็มเท่านั้น อายุเกิน 26 หรือมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วประโยชน์จะลดลง
วัคซีนมี แบบสองสายพันธุ์ก็จะครอบคลุมเชื้อที่ก่อมะเร็งปากมดลูก ส่วนแบบสี่สายพันธุ์จะคลอบคลุมเชื้อที่ก่อมะเร็งทวารหนักและหูดได้ด้วย เหมาะกับกลุ่มชาย หรือ ชายรักชายครับ

5.ไวรัสตับอักเสบบี บ้านเราเป็นแหล่งระบาด แถมถ้าเป็นแล้วโอกาสการเกิดมะเร็งตับก็มากกว่าฝรั่ง ถ้าไม่เคยฉีดให้ฉีดเลย ถ้าเคยฉีดมาแล้วไม่แน่ใจว่าภูมิขึ้นหรือไม่ ให้กระตุ้นหนึ่งเข็มแล้ววัดระดับภูมิ antiHBs หลังฉีดถ้าขึ้นสูงก็ไม่ต้องฉีดอีก ถ้าไม่ขึ้นก็ฉีดให้ครบ
สำหรับ ACIP 2017 ได้เพิ่มคำแนะนำสำหรับโรคตับเรื้อรังก็ควรได้รับวัคซีน ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบซี, ไขมันเกาะตับ, ตับแข็ง, ตับอักเสบจากแพ้ภูมิตัวเอง, ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์
อย่าลืมอีกอย่างว่า นี่คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าเสี่ยงแนะนำให้ฉีดเลยครับ

6.วัคซีนนิวโมคอคคัส สำหรับปอดอักเสบรุนแรง ตรงนี้คำแนะนำจะยาวมาก ผมเลยสรุปสั้นๆ ส่วนคำอธิบายต้องอ่านเอาเองนะ ปัจจุบันมีวัคซีนสองชนิดคือ 23 สายพันธุ์ (PPSV 23) และแบบคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (PCV 13) แต่ละอันมีบทพิสูจน์ว่าสามารถป้องกันโรคได้เฉพาะสายพันธุ์ของตัวเท่านั้น
ถ้าไม่เคยได้รับมาก่อนเลย ให้เริ่ม PCV 13 เมื่ออายุ 50 และตามด้วย PPSV 23 หลังจากเข็มแรกอีกหนึ่งปี ถ้ายังเสี่ยงติดเชื้อให้กระตุ้นด้วย PPSV 23 อีกทุกห้าปี (เสี่ยงคืออะไรเดี๋ยวดูตอนท้าย) ในส่วนนี้ ACIP เริ่มที่ 65 ปี
ถ้าเคยได้รับมาแล้ว ACIP แนะนำว่า ส่วนมากจะได้ PPSV23 งั้นพออายุ 65 ให้ ฉีด PCV 13 หนึ่งเข็ม ตามด้วย PPSV 23 อีกหนึ่งปีให้หลัง
ส่วนคนที่มีความเสี่ยง ซึ่งต้องได้รับวัคซีน PPSV 23 ทุกห้าปีอยู่แล้ว คือ ไม่มีม้าม ตัดม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน และมีโรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายปกติ ไตวาเรื้อรัง โรคหัวใจแต่กำเนิด ให้ PPSV ซ้ำทุกห้าปี และพออายุ 65 ให้ PCV 13 หนึ่งครั้ง PPSV 23 ต่อไปอีกทุกห้าปี

ส่วนที่เหลือจะเป็นวัคซีนที่ทาง ACIP 2017 ได้ประกาศแต่แนวทางของไทยยังไม่บรรจุเอาไว้ หรือเป็นวัคซีนที่จะฉีด..เมื่อมีข้อบ่งชี้
ผมพยายามสรุปและเรียบเรียงเป็นภาษาง่ายๆนะครับ ส่วนที่เหลือจะมากกว่านี้ สามารถสอบถามแพทย์ใกล้บ้านได้ และอยู่ในลิงค์ ถ้ามีคนอยากฟังสรุปต่อก็จะเขียนต่อให้ครับ

ฉบับของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ปี 2555
http://www.rcpt.org/index.php/2012-10-03-16-53-39/category/6-2013-02-02-09-02-52.html?download=56%3A2013-02-02-09-08-53

ฉบับของ ACIP 2017
https://www.cdc.gov/vaccines/acip/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม