06 กุมภาพันธ์ 2560

ตกลงความดันโลหิตเท่าไร..ถึงจะเรียกว่าคุมได้ดี

ตกลงความดันโลหิตเท่าไร..ถึงจะเรียกว่าคุมได้ดี

   ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเป็นกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังที่มีมากอันดับต้นของประเทศไม่แพ้เบาหวาน ผลเสียจากความดันโลหิตสูงมากมายครับ อัมพาต หัวใจวาย ไตวาย ไม่ว่าเราจะรักษาอัมพาต หัวใจ ไต ได้ดีแค่ไหนแต่มันก็แค่ปลายทาง
  สองปีที่ผ่านมาเราได้พัฒนาการศึกษาโรคความดันโลหิตสูงเพื่อที่จะหาคำตอบว่า ระดับความดันที่เท่าไรจึงจะเรียกว่าคุมได้ดี แนวทางการรักษามากมาย สรุปว่าได้ค่าออกมาประมาณ 130-140 ตัวล่างก็ 80-90 จะเห็นว่าศึกษามากมายค่าที่ได้ก็ประมาณเท่าๆเดิมที่เรารู้มาครับ แต่สิ่งที่ได้จากการศึกษาที่จะมาประยุกต์ใช้กับเราๆท่านๆนั้นก็จะมีดังนี้

   การศึกษาเกือบทั้งหมดใช้การวัดที่เรียกว่า ambulatory monitoring คือ ติดเครื่องวัดตลอดเวลา หรือว่าใช้วิธี home blood pressure monitoring  หรือ วัดความดันที่บ้าน จดค่ามาดูค่าเฉลี่ย ทำให้การควบคุมความดันของการศึกษาออกมา..ค่อนข้างคงที่..จึงสนับสนุนการใช้เครื่องวัดความดันที่บ้านครับ นอกจากติดตามค่าได้ตรงกับความจริงมากกว่า ลดความผิดพลาดจากภาวะความดันสูงที่เกิดจากการมาโรงพยาบาล ยังสามารถตรวจจับภาวะความดันโลหิตต่ำเกินจากการรักษาได้ด้วย
   ต่อมาคือ ไม่ว่าในการศึกษาใดๆก็จะออกมาคล้ายกันว่า ถ้าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายนั้นๆ มีโรคร่วมอื่นๆ เช่นเบาหวาน ไตเสื่อม โรคหัวใจวาย หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือแม้แต่อายุมากๆร่างกายอ่อนแอมาก การลดความดันโลหิตก็จะไม่ลดลงไปมากเกิน คือ อาจจะยอมรับได้ถึง 150/90  ถ้าจะทำให้ต่ำกว่านี้ ไม่ยากนะครับ แค่เพิ่มยา แต่ว่าประโยชน์แห่งการรักษาโดยรวมมันจะลดลง ไม่ใช่ว่าลดความดันมากๆไปจะไม่ดี ประโยชน์ที่ลดลงเกิดจากผลเสียของการรักษาที่มากขึ้น เช่น เป็นลม กระดูกหักจากการล้ม โรคหัวใจกำเริบ หรือผลจากยาที่ต้องใช้เพิ่มขึ้น
  แต่ถ้าไม่มีโรคร่วมอื่นๆ ร่างกายยังแข็งแรงดี อายุไม่มากเกินกว่า 75 ปี ก็สามารถลดความดันโลหิตให้ต่ำลงได้ 130/80 ได้เลย หรือถ้าอายุไม่มากไปกว่า 50 และร่างกายสามารถทนได้ถ้ามีความดันโลหิตต่ำบ้าง ก็ยอมรับต่ำได้มากกว่านั้นจนถึง 120/80 ก็ยังได้

   แต่ว่าทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานการติดตามความดันโลหิตด้วยตัวเองได้ และรู้จักอาการที่เกิดจากความดันโลหิตต่ำลง และที่สำคัญที่สุด ต้องอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติตัวเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตที่ถูกต้อง การลดเค็ม การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การกินอาหารที่ถูก ควบคุมโรคร่วมให้ดี  เพราะว่าข้อมูลทั้งหลายมันเกิดจากการศึกษาที่เขาคุมภาวะพวกนี้

   **ถ้าเราหยิบแค่ค่าตัวเลขมาใช้ และปรับยา ผลดีก็จะไม่ได้อย่างที่การศึกษาอธิบายเอาไว้ และอาจเกิดผลเสียที่รุนแรงมากกว่าในการศึกษาก็ได้ เพราะพื้นฐานการปฏิบัติตัวในชีวิตจริงกับในการทดลองมันต่างกัน**

   เป้าการรักษาโรคความดันโลหิตสูงก็จะคล้ายๆเป้าของเบาหวานคือเป็น เป้าส่วนบุคคล จะมาเทียบเป้าหมายแต่ละคนได้ยาก เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน การใช้ยาก็ไม่ต่างกัน เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยและหมอต้องมากำหนดเป้าหมายร่วมกันและปรับแต่งเป้าหมายตามเหมาะสมกับสภาพโรคและอายุที่เปลี่ยนไปครับ

  (สำหรับแพทย์ : เกณฑ์ตัวเลขต่างๆ อายุ โรคร่วม มันถูกกำหนดจาก inclusion และ exclusion criteria เกณฑ์ตัวเลขต่างๆก็เป็นเกณฑ์ที่ทีมวิจัยกำหมดขึ้นภายใต้ความรู้ปัจจุบัน)

  JAMA Cardiology เมื่อ 30 Jan 2017 Dr.Aram B. Chobanian จาก Boston University สรุปเรื่องนี้ไว้ดีมากๆเลย target BP in 2017 ทั้งจาก HOPE-3, SPRINT, ACCORD,JNC,ESH/ESC เอาลิงค์ไปนะครับ อ่านฟรี..

  http://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2600610?utm_source=FBPAGE&utm_medium=social_jn&utm_term=799532203&utm_content=content_engagement|article_engagement&utm_campaign=article_alert&linkId=34143239

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม