23 กุมภาพันธ์ 2560

วัคซีนไข้เลือดออก ข้อสรุป ข้อเท็จจริง

วัคซีนไข้เลือดออก ข้อสรุป ข้อเท็จจริง

  แอดมินสนใจเองวัคซีนไข้เลือดออกมานานแล้วครับ เมื่อวานได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัววัคซีนไข้เลือดออก ได้ไปฟังกลุ่มปูชนียบุคคลผู้ที่พัฒนาวัคซีนตัวจริงและผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการติดเชื้อไข้เลือดออกและต่อสู้กับไข้เลือดออกมาตลอดชั่วชีวิตของท่าน จึงอยากมาเล่าให้แฟนเพจทั้งหลายฟัง เรื่องยาวหน่อย อ่านไปหาอะไรมากินไป เดี๋ยวก็จบ

   ผมขอชื่นชมบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่จัดงานและผู้บรรยาย ที่เนื้อหาไม่ได้..”ขายของ”..แต่อย่างใด ผมเองไปร่วมฟัง เตรียมข้อมูลไปเต็มที่ อยากไปฟังผู้คิดค้นวัคซีนบรรยายเต็มที่ ก็สมใจครับ แทบไม่มีการค้าเจือปน จริงอยู่แม้จะมีบริษัทข้ามชาติเป็นผู้ผลิต แต่ผมจะเอาแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้นมาบอกเล่าให้ฟัง

   ถามว่าทำไมต้องมีการสร้างวัคซีนไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออกสร้างภาระมากมายในโลกนี้นะครับ กว่าครึ่งโลกที่เสี่ยงและกว่า 20%ที่ป่วย การควบคุมไข้เลือดออกขององค์การอนามัยโลกเองก็ทำได้ไม่ดีนัก การสร้างเครื่องมือในการตรวจและวินิจฉัยเราทำได้ดีพอควร แต่การป้องกันยังไม่ดีนัก วัคซีนจึงเป็นประเด็นสำคัญ   แล้วใครล่ะที่เป็นต้นคิดการใช้วัคซีนเพื่อปกป้องคนบนโลกนี้ คนนั้นคือ ท่านศาสตราจารย์ ณัฐ ภมรประวัติ คือคนไทยเรานี่เองครับ เมื่อห้าสิบปีก่อน ท่านได้ลงทุนลงแรงและถ่ายทอดเจตนาจากรุ่นสู่รุ่น จนห้าสิบปีหลังจากความตั้งใจนั้น วัคซีนจึงได้ถือกำเนิดขึ้น แม้อาจารย์ณัฐจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เจตนารมณ์ได้บรรลุความจริงแล้วครับ

  วัคซีนไข้เลือดออก พัฒนามากจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมของไวรัสไข้เหลืองมาเข้ากับไข้เลือดออกทั้งสี่สายพันธุ์ จึงไม่มีความสามารถในการก่อโรคแต่จะมีความสามารถในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ต้องใช้ทั้งสี่สายก็เพราะปัจจุบันมีการระบาดหมดเท่าๆกัน

  การศึกษาทำในประเทศในอเมริกาใต้และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะที่นี่คือแหล่งปัญหาของไข้เลือดออกในโลกนี้ ที่อื่นพบเล็กน้อยเท่านั้น ประเทศไทยเองก็เป็นจุดศึกษาที่สำคัญมากๆ (ใครสนใจอ่านหาเพิ่มได้ CYD-TDF 14 ในเอเชีย,CYD-TDF 15 ในอเมริกาใต้, CYD 23 ในประเทศไทย) จากการศึกษานี้ที่เราพบสำคัญคือกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกเริ่มขยับขึ้นจากเด็กมาสู่ผู้ใหญ่มากขึ้น การศึกษาวัคซีนได้ทำทั้ง ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในภูมิภาคต่างๆ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ในระยะต่างๆของการทดลอง ปัจจุบันยังไม่การศึกษาที่ทำในคนมากมายขนาดเกือบ 40,000 คนเลย จึงเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน  
   การศึกษาทำในเด็กอายุ 2-14 ปีในเอเชีย และ 9-16 ปีในอเมริกาใต้ (ทางอเมริกาใต้พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก) โดยให้วัคซีนเทียบกับยาหลอก และวัดผลสามเรื่อง คือ โอกาสติดเชื้อและมีอาการ  การป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และ ถ้าป่วยแล้วจะรุนแรงไหม ติดตามสูงสุด 5 ปี ได้ผลดีและจะสรุปดังนี้

1. วัคซีนมีประโยชน์สูงสุดสำหรับช่วงอายุ 9-16 ปีตามการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าต่ำกว่า 9 ปีจะไม่เกิดประโยชน์ แต่ว่ามันไม่ชัดเจนและไม่ปลอดภัยเท่าเก้าปี ส่วนทำไมต้องสิบหก เพราะการศึกษาระบุทำในอายุเท่านี้ และออกมาผลก็ดี

2. แต่วัคซีนระบุ ให้ฉีดถึง 45 ปี ข้อมูลตรงนี้มาจากการ extrapolate คือการคาดเดาอย่างมีวิธีการ ไม่ได้เกิดจากการศึกษาโดยตรง คือแบบนี้ครับ จากการศึกษาก่อนหน้านี้หลายๆอัน เราพบว่ายิ่งเราอายุมากขึ้นระดับภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออกเราก็มากขึ้น อันนี้เป็นความจริงทั้งโลก ถ้าเราฉีดในเด็กโตซึ่งภูมิเขาน้อยกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว ยังพบว่าระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นขนาดนี้ ถ้าไปฉีดในผู้ใหญ่ก็น่าจะ..เพิ่มภูมิ...ได้มากกว่าเด็ก  ย้ำเป็นการคำนวณคาดการณ์นะครับ ทางองค์การอนามัยโลกก็พอรับได้กับหลักการนี้ จึงยินยอมให้ฉีดในอายุ 9-45 ปี

3. มากกว่า 45 ปี ข้อมูลไม่ชัดเจน จึงไม่ได้แนะนำ ตามหลักการก็น่าจะดี แต่ความเป็นจริงยังไม่มีผลการศึกษายืนยัน โดยเฉพาะระดับภูมิที่สูงพอควรแล้ว ฉีดไปอาจไม่ช่วยเพิ่ม และการเกิดโรคในผู้สูงวัยไม่ได้รุนแรงเหมือนในเด็กโตและเด็กเล็ก ปัญหาของผู้ใหญ่คือ เลือดออกและตับอักเสบ มากกว่าช็อก (แต่ก็ช็อกได้นะครับ)

4. ข้อสี่นี่ ถือเป็นการค้นพบและการเปลี่ยนแปลงใหญ่เลยทีเดียว  เดิมเราคิดว่าถ้าเคยมีภูมิอยู่แล้ว ใส่เชื้อไข้เลือดออกเข้าไปอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง แต่ปรากฏการณ์นี้กลับพบว่า นอกจากไม่ได้ติดเชื้อรุนแรงแล้ว ภูมิคุ้มกันยังจะดีขึ้น และได้ผลต่อวัคซีนมากขึ้น ดังนั้นวัคซีนจึงได้ผลดีในกลุ่มอายุเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก เพราะเด็กโตอายุเกินเก้าปีในประเทศไทย เกือบ 80% เคยได้รับเชื้อมาแล้ว และยิ่ง๔อายุมากขึ้นประสิทธิภาพวัคซีนยิ่งสูงขึ้นในทุกๆกลุ่มย่อยการศึกษา

5. ประโยชน์จริงๆของวัคซีนตามการศึกษาที่เพ่งเล็งประสิทธิภาพ คือ ลดการติดเชื้อที่มีอาการ ต้องการอย่างน้อย 25% และควรได้อย่างน้อย 70% ตามที่คาดการณ์ไว้ของการศึกษา ปรากฏว่า ผลออกมาโดยรวมป้องกันการติดเชื้อมีอาการได้ 65.6% เกือบถึงเป้า แต่ที่ลดอย่างชัดเจนและมีนับสำคัญทางสถิติมากคือลดความรุนแรง ลดการเกิดโรคแบบรุนแรงลงได้ 92.9% ลดอัตราการเข้ารับการรักษาในรพ.ลดได้ 80.2% คือฉีดแล้วมักจะไม่เป็นโรครุนแรงนั่นเอง

6. มันมีสี่สายพันธุ์ก็จริง แต่การตอบสนองของวัคซีนก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งสี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่สองจะตอบสนองน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ระดับประมาณแค่ 40-50% แต่ถ้าดูภาพรวมทุกสายพันธุ์ก็พอใช้ได้

7. ส่วนที่กังวลว่า เด็กที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การฉีดวัคซีนจะเป็นการทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันครั้งแรก แล้วถ้าติดเชื้อครั้งต่อไปจะรุนแรงมากขึ้น ประโยคนี้เป็นจริงแค่บางส่วน มันมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องด้วยเช่นระยะเวลาที่ติดเชื้อสองครั้งห่างกันไหม สายพันธุ์เชื้อ ...จากการศึกษาเด็กที่ไม่มีภูมิมาก่อนมาฉีด แล้วเมื่อเป็นโรคก็ไม่ได้พบว่าความรุนแรงต่างจากเด็กที่ไม่ได้ฉีดครับ

8. ผลข้างเคียง ที่เจอแน่ๆคือ เจ็บ..อาจมีไข้ ..บวมแดงได้ ไม่พบปฏิกิริยาที่รุนแรง มีรายงานการตายหลังฉีดวัคซีน...ทางบริษัท..ทางบริษัทนะครับ แจ้งว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุของวัคซีน

9. มันจะป้องกันได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์หรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ใช่ครับ เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง สิ่งสำคัญคือเราต้องควบคุมยุง ป้องกันยุง กำจัดลูกน้ำยุงลาย (มันอยู่ในบ้านนะครับ ไม่ได้อยู่ในท่อระบายน้ำ) และเมื่อเป็นไข้ก็ต้องรีบทำการวินิจฉัยและรักษา ต่อให้รัฐบาลลุงตู่ใจป้ำให้ฉีดฟรีทั้งประเทศ ถ้าไม่ควบคุมปัจจัยอื่นๆร่วมด้วยก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

10. ตกลงจะฉีดไหม...ผมใช้หลักการเดิมของวัคซีนนะครับ ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าฉีดได้ ถ้าไม่มีข้อห้ามการฉีด และถ้ามีสตางค์ไม่เดือดร้อน ก็ฉีดทุกตัวที่เหมาะกับเราครับ  มันจะอยู่นานไหมเจ้าภูมิคุ้มกันเนี่ย จาการติดตามพบว่าในระยะเวลาห้าปีที่ศึกษามานี้ระดับภูมิคุ้มกันก็ยังไม่ตก คงต้องรอการศึกษาติดตามต่อไป (อย่าลืมว่าไทยเป็นแดนระบาด เราอาจมียุงกัดมาช่วยกระตุ้นภูมิอยู่เกือบตลอดเวลา)

ยังมีรายละเอียดสนุกๆเกี่ยวกับไข้เลือดออกจาก อ.ประเสริฐ ทองเจริญ, อ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร, อ.สมศักดิ์ โล่เลขา, อ.อุษา ทิสยากร, อ.ทวี โชติทิพยสุนทร, อ.สุธี ยกส้าน ชื่อทั้งหมดนี้คือปรมาจารย์ไข้เลือดออกของโลก ที่เป็นคนไทย วัคซีนที่มีต้นกำเนิดจากไทย แม้จะมีการให้ทุนและซื้อการพัฒนาจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ แต่นี่ก็คือก้าวสำคัญอันหนึ่งในการต่อสู้เชื้อโรคร้าย ที่ผมสรุปแบบไม่ให้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเจือปน เพื่อคุณๆแฟนเพจทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม