27 กุมภาพันธ์ 2560

โรคมะเร็งท่อน้ำดี

มะเร็งท่อน้ำดี  มะเร็งที่พอจะหลีกเลี่ยงได้

  ท่อน้ำดี ทางเดินจากเซลตับรวมกันออกมานำส่งน้ำดีเข้าสู่ลำไส้ มีถุงน้ำดีคอยเป็นแก้มลิงพักน้ำดีเอาไว้และปรับปรุงคุณภาพน้ำดีให้เข้มข้นก่อนส่งสู่ลำไส้ ท่อน้ำดีมีทั้งในตับและนอกตับ มะเร็งท่อน้ำดีก็สามารถเกิดได้ทั้งในตับและนอกตับเช่นกัน บางครั้งทำให้เราสับสนกับมะเร็งตับ (จากเนื้อตับเอง Hepatocellular carcinoma) เพราะเซลต้นกำเนิดมาจากคนละแหล่งกัน การตรวจและรักษาก็แตกต่างกัน

   มะเร็งชนิดนี้มักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น อาการจะพบเมื่อโรคเข้าสู่ระยะท้ายหรือมีผลแทรกซ้อนแล้ว อาการที่พบบ่อยคือ อาการของท่อน้ำดีขยายขนาดและอุดตัน ท่อน้ำดีที่ขยายขนาดก็จะมีน้ำดีมากแต่ว่าไม่ได้ไหลดีนัก น้ำดีที่มากก็จะมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองแบบค่อยๆเป็น คันตามตัวจากน้ำดี ปัสสาวะสีเข้มมากๆคล้ายน้ำเก๊กฮวยแก่จัดๆ หรือสีน้ำชาจีนแก่ๆเลยทีเดียว  อุจจาระจะมีสีซีดจางลงเพราะสีน้ำดีนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของสีอุจจาระ หรืออาจเกิดการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี
    การตรวจร่างกายคงต้องตรวจหาโรคตับอื่นๆด้วย ผู้ป่วยที่จะคลำได้ก้อนหรือปวดนั้นมีน้อยครับ การตรวจร่างกายที่ดีก็จะพอแยกสาเหตุการเหลืองที่ดี ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม โดยเฉพาะการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการคัดกรองเบื้องต้นโดยการทำอุลตร้าซาวนด์  และถ้าพบว่าเป็นโรคการรักษาที่ดี  คือการผ่าตัดออกให้หมดทั้งส่วนในตับและนอกตับ ซึ่งไม่ได้ทำง่าย การรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสงยังไม่ได้เป็นการรักษามาตรฐาน จึงให้พิจารณาเป็นรายๆไป ในกรณีที่ผ่าไม่ได้ อาจต้องใส่สายช่วยระบายน้ำดีให้ไหลออกได้สะดวกขึ้นครับ อาจทำได้โดยการผ่าตัด การส่องกล้อง หรือ ทำผ่านทางหน้าท้องเลย

    โรคนี้สำคัญเพราะมักจะมาพบเมื่ออาการมากแล้ว โอกาสมีชีวิตรอดในช่วงห้าปีค่อนข้างต่ำ ในตับก็ 6-15% นอกตับอาจจะดีขึ้นเพราะพอแก้ไขได้ง่ายกว่าคือที่ 24-30% ถ้าเราสามารถคัดกรองได้ก็จะมีประโยชน์มาก การตรวจคัดกรองนั้นแม้ว่าหลักฐานจะยังไม่เพียงพอว่าจะให้ทำทุกราย ทำเฉพาะกลุ่มเสี่ยง  ก็ถือว่าคนไทยเป็นกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มในโลกที่คัดกรองแล้วมีประโยชน์เพราะว่า กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือโรคของท่อน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ที่พบสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งชนิดนี้มากที่สุดในโลกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เมืองหลวงแห่งมะเร็งท่อน้ำดี

   การคัดกรองโรคนี้ทำได้ในสามระดับ ระดับแรกอย่าให้เกิด ระดับสองถ้าเกิดก็ตรวจทราบให้เร็ว ระดับสามคือรักษาให้หายและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

    แน่นอนว่าการกินปลาน้ำจืดแบบมีเกล็ด แบบกินดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ เข้าใจผิดว่าน้ำมะนาว เหล้าจะทำให้สุกได้นั้นมันไม่จริง วิธีที่จะหลีกเลี่ยงคือการกินอาหารปรุงสุกและล้างมือให้สะอาดสม่ำเสมอ เห็นไหมครับ เป็นวิธีง่ายๆแต่ทรงประสิทธิภาพมาก เพราะลดความเสี่ยงตั้งแต่ต้นเลย
   วิธีการต่อมาคือคัดกรองการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini) โดยการตรวจอุจจาระหากพบก็ให้ยารักษาและให้กินปลาสุก  และการคัดกรองด้วยการทำอัลตร้าซาวนด์ช่องท้องในกลุ่มเสี่ยง คืออายุมากกว่า 40 ปีเป็นคนที่พำนักในภาคอีสาน มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งตับหรือมีอาการจุกแน่นท้องเข้ารับการรักษาถูกต้องหนึ่งเดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น   สองวิธีนี้ก็จะลดโอกาสการพัฒนาไปเป็นมะเร็งท่อน้ำดีหรือถ้าเป็นก็อาจรักษาได้ทัน ผลแทรกซ้อนไม่มากนัก

   สองวิธีนี้เป็นการคัดกรองที่เป็นโครงการของประเทศเราเพราะประเทศเราพบบ่อยและเป็นปัญหา ยังไม่มีแนวทางการคัดกรองที่ชัดเจนจากที่ใด กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการคัดกรองมาตั้งแต่ปี 2556 ในชื่อ CASCAP ต่อมาทางกระทรวงยกระดับโรคนี้เป็นปัญหาระดับชาติในปี 2559 ในชื่อ โครงการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ถวายเป็นพระราชกุศลฯ เรียกสั้นๆว่า ISAN cohort  

  ผลการคัดกรองพยาธิจนมาถึง 27 กพ.2560 คัดกรองทั้งหมด 515,921 คน  ให้การรักษาพยาธิ 1553 คน ทำอัลตร้าซาวนด์คัดกรอง 256,561 คน สงสัยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี 3,214 คน คิดเป็น 1.2% (จากคนที่เสี่ยงและเข้าทำอัลตร้าซาวนด์)  ทั้งหมดก็พบมากที่ภาคอีสานและเชียงราย ส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่รับการผ่าตัดเพื่อหายขาด 1,085 ราย ประคับประคอง 887 ราย
   สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://cloud.cascap.in.th

โครงการนี้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วย คัดกรองผู้เสี่ยงและได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งท่อน้ำดีอีกมากมาย  อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงอยากรู้จักพยาธิใบไม้ในตับกันแล้วใช่ไหมครับ รอติดตามกันนะครับ

จาก แนวทางการตรวจคัดกรองวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2554

Guidelines for diagnosis and treatment of cholangiocarcinoma, British Society of Gastroenterology 2012

American Cancer Society website

เครดิตภาพ : riskcomthai.org

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม