วันนี้วันวาเลนไทน์ ใครมีแฟนก็สมหวังในรัก ใครอกหักมาทางนี้ เพราะว่า “อกหัก” เป็นโรคทางอายุรศาสตร์ (broken-heart syndrome)
อาการเจ็บแน่นหน้าอกเฉียบพลัน เหนื่อย หายใจไม่ออก เหงื่อออกทั้งตัว แน่นอนทุกคนก็คิดว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแน่นอน โรคนี้มีสาเหตุจากอยู่ดีๆเจ้าตะกอนไขมันที่อยู่ในหลอดเลือดมันแตกและอุดตัน แต่อีกโรคที่มีอาการเหมือนกันเลย คือ โรคหัวใจที่ชื่อว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ทาโคซูโบ (Takotsubo Cardiomyopathy)
สาเหตุของโรคนี้เรายังไม่ทราบชัดเจนนัก แต่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนที่ใข้กระตุ้นการทำงานของหัวใจออกมามากเกินไป ชื่อว่าฮอร์โมน แคทิโคลามีน (catecholamines) แต่มันก็ไม่ได้ออกมาเอง มักจะเกิดเมื่อมีภาวะกระตุ้นรุนแรง เช่น ญาติพี่น้องเสียชีวิต ลุ้นหวยรางวัลที่หนึ่งพลาดไปเลขเดียว แฟนบอกเลิกในวันวาเลนไทน์ หรือเหมือนในหนังไทยที่เราเคยเห็นครับ ลูกชายไปเลือกสาวชาวนา แทนที่จะเลือกคู่หมั้นหญิงตระกูลพันล้าน หม่อมแม่เจ็บอก เป็นลม
โรคนี้พบครั้งแรกในญี่ปุ่นในปี 1990 ต่อมาก็มีรายงานมากขึ้นเรื่อยๆทั้งโลก ..คงอกหักกันมากขึ้น.. และมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงที่พบนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นหญิงวัย 50 ..เราจึงเชื่อว่าอิทธิพลของฮอร์โมนเพศก็มีผลเช่นกัน
เวลามาตรวจ ซึ่งต้องพามาตรวจเร็วด้วยนะครับ หญิงอายุ 50 ปี เจ็บอกมารพ. อย่างไรก็ต้องแยกโรคหลอดเลือดตีบ เราก็จะพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้เหมือนๆกับหลอดเลือดตีบ ค่าแล็บเอนไซม์หัวใจก็ขึ้นสูงได้เหมือนหลอดเลือดตีบ ถึงขั้นนี้คงต้องเอาไปฉีดสีดูหลอดเลือดแล้วล่ะครับ ผลจะปรากฏออกมาว่า ฉีดสีปรกติ แต่ถ้าไปทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เอคโค่ หรือ ฉีดสีเข้าไปในห้องหัวใจห้องซ้ายเลย จะพบความผิดปกติที่เป็นที่มาของชื่อโรค
นั่นคือ จะพบการบีบตัวที่ไม่สม่ำเสมอกันของหัวใจ โดยเฉพาะส่วนกลางๆหัวใจ(ห้องล่างซ้าย) จะบีบมาก ส่วนอื่นๆโดยเฉพาะส่วนปลายที่เรียกว่า apex จะบีบน้อย (apical ballooning) ลักษณะจึงเหมือนดังภาพ คือคอดกลาง ป่องปลาย คล้ายๆไหกลมๆ …จำได้ไหมว่าโรคนี้เกิดที่ญี่ปุ่น หมอชาวญี่ปุ่นเขามองว่าเหมือนไหที่เอาไว้เก็บปลาหมึกยักษ์ ที่ชื่อว่า takotsubo เขาจึงตั้งชื่อโรคหัวใจแบบนี้ว่า takotsubo ครับ
โรคนี้เป็นเองหายเองได้ และไม่ค่อยเกิดซ้ำสอง …พระเจ้าคงให้เราอกหักแค่ครั้งเดียว. แม้ตอนเกิดโรคเฉียบพลันอาจมีหัวใจวายหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่เมื่อรักษาไปแล้วจะเป็นปกติได้ มักจะหายใน 1-2 เดือน ..พอๆกับเวลาทำใจตอนอกหักเลย..เป็นเองหายเองด้วย..
คนที่สงสัยโรคนี้ก็มักจะไม่ค่อยมีความเสี่ยงโรคหัวใจมากนัก หรือไม่ก็อายุน้อยๆ แต่อย่างไรก็ตามคงต้องแยกโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการฉีดสีเสมอ การศึกษาเรื่องพันธุกรรมที่อาจส่งผลใน gene sequencing กำลังศึกษาค้นคว้าอยู่ครับ
สาวไทยไม่ค่อยมีรายงาน ไม่รู้สมหวังในรัก หรือ ไม่มีโอกาสกระทั่ง..อกหัก
อันนี้ก็อ่านเพิ่มได้ง่ายๆ ฟรีครับ
http://circ.ahajournals.org/content/124/18/e460
https://www.bhf.org.uk/heart-health/conditions/cardiomyopathy/takotsubo-cardiomyopathy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น