01 กุมภาพันธ์ 2560

โรคขาดวิตามิน B12 (B12 deficiencies) แบบบ้านๆ

โรคขาดวิตามิน B12 (B12 deficiencies) แบบบ้านๆ

   สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว การใช้ยาเบาหวานเม็ตฟอร์มินเป็นระยะเวลานานๆ สัมพันธ์กับการเกิดโรคขาดวิตามิน B12 หรือ ภาวะพร่อง B12 มีผู้สนใจไถ่ถามมาพอสมควร ต้องชี้แจงก่อนว่า ไม่จำเป็นต้องเกิดทุกคนครับ **พบเพียงสัมพันธ์กันเท่านั้น** นั่นคือถ้าตรวจได้ก็ตรวจระดับวิตามิน B12 เนื่องจากราคาแพงและไม่ได้มีที่ให้ตรวจมากมาย แต่ถ้าตรวจไม่ได้ ผมคิดว่าในสถานการณ์ประเทศเรา ใช้สิ่งที่เรามีคือ ประวัติ การตรวจร่างกาย ความเสี่ยง ถ้าจำเป็นจึงส่งตรวจ  ยังมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดอีก ยาอื่นๆอีก แถมยังพบมากกว่าด้วย

    ส่วนคำถามที่ว่า งั้นให้เลยแล้วกัน vitamin 12 ยาราคาถูก.. เนื่องจากอัตราการเกิดโรคไม่มาก ที่รายงานกันก็เป็นแค่ case report คือรายงานกรณีศึกษาเท่านั้น เรายังขาดข้อมูลเรื่องความคุ้มค่าของการคัดกรองหรือแม้แต่การให้วิตามินไปเลยทุกราย ว่าทำแบบนี้จะเกิดประโยชน์ ต้องรอข้อมูลมากกว่านี้ครับ
   คงจะพอบอกได้ว่าถ้าใครใช้ยามานานๆแล้วมีอาการของการขาดวิตามิน B12 ต้องระลึกไว้ว่าเกิดจากยาเม็ตฟอร์มินได้
   ส่วนการขาดวิตามิน B12 สามารถหาอ่านได้ทั่วไป ทุกเล่มเขียนแทบจะเหมือนกันครับ Harrison. ,William’s Hematology., CMDT, NICE guidelines ผมขอสรุปข้อที่น่ารู้ไว้คร่าวๆนะครับ และแถมลิงค์ของ british journal of hematology ที่เขียนได้ดีครับ เช่นเคย ..ฟรี

http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/bjh.12959/abstract;jsessionid=72F284D785CCEA53C95892337BD594AF.f03t01

1. การขาดวิตามิน B12 เกือบทั้งหมดเกิดจากการดูดซึมหรือการนำพาวิตามินที่ผิดปกติในร่างกาย การขาดที่เกิดจากการกินไม่พอนั้น..น้อยมาก ถึงขั้นหายากเลยครับ วิตามิน B12 พบในเนื้อสัตว์ ไข่ นมอยู่แล้ว โอกาสจะกินขาดคือกลุ่มมังสวิรัติเคร่งครัด หรือขาดอาหาร พวกที่ขาดวิตามินเท่านั้นที่ใช้การกินแล้วน่าจะมีประโยชน์ แต่ข้อมูลน้อยเพราะโรคมันน้อย
2. อาการและอาการแสดงที่พอจะบ่งชี้ได้ (ในผู้ใหญ่) คือ ซีดจางลง ลิ้นเลื่อนแดงจัด อาการทางระบบประสาทที่พบคือ อาการชาปลายเท้า การเดินทรงตัวไม่ดี ตรวจพบการทำงานของเส้นประสาทส่วนปลายทำงานผิดปกติ เอาฟิล์มเลือดไปดูจะพบเซลเม็ดเลือดแดงตัวโตๆ ค่า MCV มักเกินร้อย ส่วนรายละเอียดอื่นๆโดยเฉพาะการตรวจไขกระดูกนั้นผมขอละไว้ ลึกไป ต้องอ่านเองครับสำหรับผู้สนใจ

3. ไม่มีการตรวจที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน (gold standard) จึงต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกายและความเสี่ยงการเกิดโรคร่วมด้วยเสมอ การตรวจที่ใช้มากที่สุดคือการวัดระดับ วิตามิน B12 (200-800 pg/mL) ถ้าต่ำกว่า 80 น่าจะยืนยันการขาดได้ชัดเจน ส่วนการตรวจอย่างอื่นคือ methylmelanoate, homocysteine, holotranscobalamin เอาไว้แยกหาสาเหตุระดับเซล

4. ยาที่ทำให้เกิด B12 ขาด พบบ่อยๆคือ ยากดภูมิ methotrexate, ยาลดกรด PPI กลุ่ม -prazole ทั้งหลาย, ยาคุมกำเนิด, ยาฆ่าเชื้อ sulfa   แต่สัดส่วนจากยาเกิดไม่มากเท่าการดูดซึมที่ผิดปกติจากโรคอื่นๆดังข้อ 5

5. การหาสาเหตุของการดูดซึมและการสังเคราะห์วิตามิน B12 เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะบ่งชี้การรักษา เช่น การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ลำไส้ เพื่อตรวจกระฝ่อของผิวกระเพาะ การตรวจทางรังสีเพื่อดูจุดตัดต่อลำไส้ร่วมกับประวัติการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ (จุดดูดซึมวิตามิน) โรคของลำไส้เช่น วัณโรค, ลำไส้อักเสบ, พยาธิ Diphyllobothrium latum ...ยกตัวอย่างมาเพื่อให้เห็นว่า ต้องมีอาการและหาสาเหตุ  ก่อนจะไปโทษ metformin

6. การรักษานั้นใช้ยาฉีด วิตามิน B12 cyanocobalamin ขนาด 1000 ไมโครกรัม เข้ากล้ามเนื้อ ห้าถึงหกครั้งต่อสัปดาห์ คิดง่ายๆก็วันละครั้ง อาจจะให้วันเว้นวันในสัปดาห์ต่อไป ให้จนอาการดีขึ้น (ส่วนมากคืออาการซีดดีขึ้น อาการทางระบบประสาทมักไม่ค่อยดีขึ้น) และให้ต่อไป 1000 ไมโครกรัมทุกสามเดือน ถ้าแก้ไขปัญหาต้นเหตุไม่ได้มักต้องให้ไปตลอด

7. วิตามิน B1-6-12 ที่เราใช้อยู่นั้นมีวิตามิน B12 แค่ 50 ไมโครกรัมเท่านั้น ต้องใช้ 20 เข็มเลยนะครับ จึงใช้ไม่ได้ ต้องใช้ วิตามิน B12 ที่ทำออกมาในขนาดหลอดละ 1000 ไมโครกรัมเท่านั้น  เจ้าขนาด 50 ไมโครกรัมนั้น ใช้ได้แค่บกพร่องวิตามิน คือต่ำแต่ไม่ขาด

8. ถ้าวัดระดับวิตามิน B12 ไม่ได้จริงแต่อาการเหมือนมาก ดูฟิล์มเลือดเหมือนมาก อาจลองให้ยาและดูการตอบสนองของเม็ดเลือด ในสองสัปดาห์ก่อนได้ ซีดจะดีขึ้น เม็ดเลือดเล็กลง ถ้าตรวจไขกระดูกก็จะพบการแบ่งตัวของนิวเคลียสเป็นไปตามปกติ เข้ากันได้กับไซโตพลาสซัม

9. ตรวจแยกโรคขาดโฟลิกร่วมด้วยเสมอ รายละเอียดตรงนี้ ผมทำลิงค์วารสารมาให้อ่านครับ มันลึกมากเหมาะสำหรับผู้สนใจ

น่าจะช่วยเติมเต็มความเข้าใจได้ดี และ ผมยังยืนยันว่า metformin เป็นยาที่ดีมาก ประสิทธิภาพสูง ลดอัตราการเสียชีวิตได้ ลดน้ำตาลได้ดี ราคาถูกมาก และตามแนวทางการรักษาเบาหวานถือเป็นยาตัวแรกที่ต้องให้ถ้าไม่มีข้อห้ามนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม