01 มีนาคม 2560

ขาอยู่ไม่สุข ขาผีสิง ... restless leg syndrome

ขาอยู่ไม่สุข ขาผีสิง ... restless leg syndrome

กลุ่มอาการอย่างหนึ่งที่พบบ้าง คุณๆอาจจะเคยเป็น รู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่ขา (หันไปดูนิดนึงว่าไม่ใช่คนข้างๆเล่นปูไต่อยู่) บางคนก็คัน เจ็บ ชาๆ เวลาอยู่นิ่งๆนานๆจะเกิดอาการนี้ ยิ่งเป็นเวลานอนกลางคืนก็ยิ่งเป็นมาก (เพราะนอนนิ่งๆนานๆ) อยากจะลุกขยับแข้งขา
ไม่ใช่แค่อยากลุกเท่านั้น ถ้าไม่ลุกหรือไม่ขยับก็จะหงุดหงิดนอนไม่ได้ แต่พอเช้า หรือ พอขยับหรือลุกขึ้นก็จะดีขึ้น อาการยุกๆยิกๆก็จะลดลง บางคนก็เป็นตอนหลับ จนคนข้างๆรู้สึก สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นประวัติที่ชวนให้คิดถึง restless leg syndrome ซึ่งต้องแยกจากในกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกาย (periodic limb movement disorders) ที่มักจะเคลื่อนไหวผิดปกติในขณะหลับ

สังเกตนะครับ มันเป็นกลุ่มอาการ ยังไม่ได้เป็นโรคที่ชัดเจน สามารถพบโรคหลายๆโรคที่มีอาการแบบนี้เป็นอาการร่วมด้วย เป็นประเด็นช่วยให้เราสืบค้นหาโรคอื่นๆที่พบร่วมกัน และถ้ารักษาโรคร่วมเหล่านั้น อาการขาอยู่ไม่สุขก็จะดีขึ้น .... สำคัญนะครับ เพราะถ้าเรามัวแต่รักษาอาการปลายเหตุ อย่างไรก็ไม่ดีขึ้น
โรคที่พบร่วมด้วย ที่ต้องสืบหาและแก้ไข ที่พบมากที่สุดคือคือ #ภาวะขาดธาตุเหล็ก (ส่วนมากจะมีโลหิตจางด้วย) ลำดับต่อๆมาอาทิเช่นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือเกี่ยวพันกับยา ยาลดอาการอาเจียน ยาจิตเวช ยาแก้ไขอาการซึมเศร้า และภาวะตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย เมื่อสืบหาไม่พบจึงค่อยโทษว่าไม่ได้มาจากสาเหตุอื่นๆ

มูลเหตุการเกิดโรคยังไม่ชัดเจนมากครับ จากผลการศึกษาปัจจุบัน พอจะบอกได้ว่ามีความผิดปกติของสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว ให้เรียบลื่น ไม่ตะกุกตะกัก เราเรียกชื่อสมองส่วนนี้ว่า basal ganglia และ สารสื่อประสาทที่บกพร่องนั้นคือ dopamine
ยาต่างๆที่ว่าพบร่วมกับอาการนี้ เป็นยาที่ไปเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของ dopamine ทั้งสิ้น และ การใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการขาอยู่ไม่สุขนี้ ก็จะเป็นการไปเพิ่มระดับ dopamine ในสมอง ทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อดีขึ้น เริ่มอยู่นิ่งและไม่รู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่ขาอีกต่อไป

เวลาไปหาหมอ คุณหมอจะซักประวัติตามที่กล่าวมาครับ จะมีการตรวจร่างกายเพื่อหาโรคร่วมอื่นๆ การส่งตรวจเลือดหรือตรวจพิเศษเพื่อหาโรคร่วมอื่นๆเช่นกันครับ เช่นตรวจเลือดหาภาวะซีด หรือตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในเลือด .. โรคนี้จะวินิจฉัยได้จากประวัติที่ดีครับ
โดยมากอาการจะไม่รุนแรงและไม่บ่อย ที่เรียกว่าบ่อยๆคือ มีอาการมากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์และเป็นมากจนรบกวนการหลับการตื่น รบกวนการทำงาน อันนี้อาจต้องใช้ยาช่วยบรรเทาอาการ
การรักษาเบื้องต้นโดยไม่ใช้ยา ได้รับการศึกษาว่าใช้ได้จริง ได้ผล คือ การออกกำลังกาย การนวดขา การแช่น้ำอุ่น ก็จะได้ไม่ต้องใช้ยาครับ

แต่ว่าถ้าเป็นมากเป็นบ่อย ก็อาจจะต้องใช้ยา คือ pramipexole, gabapentin enacabil, ropinirole ยาจะไปเพิ่มการทำงานของสาร dopamine ในสมองครับ เคยมีการศึกษาการใช้ยารักษาโรคพาร์กินสัน levodopa ก็ได้ผลในช่วงสั้นๆครับ(levodopa test) อย่าลืมว่าการใช้ยาเป็นแค่การรักษาอาการเท่านั้น
การรักษาแบบไม่ใช้ยาและการควบคุมโรคร่วมยังเป็นประเด็นสำคัญ อนาคตเราน่าจะเข้าใจโรคนี้และแก้ไขให้ตรงจุดมากขึ้นครับ

...แถม ..โรคนี้มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปี พศ.2212 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย sir Thomas Willis บันทึกได้ตรงตามอาการเป็นภาษาละติน แต่ว่ามารู้จักแพร่หลายจากการวิจัยของ Karl Axel Ekbom ในอีก 300 ปีให้หลัง ศึกษาถึงโรคร่วม อาการ และการรักษา จึงมีชื่อเรียกโรคนี้อีกอย่างว่า Willis-Ekbom disease ...ใครสนใจอ่านเพิ่ม ตามนี้ครับ

จาก JAMA 21 Feb 2017
national institute of neurological disorders and stroke
Neuropsychiatr Dis Treat. 2006. Jun ;2(2)
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2671772/#
Neurotherapeutics 2014. Jan ;11(1)
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3899490/#

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม