09 มีนาคม 2560

การเกิดอัมพาตหลังจากการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

ดาราฮอลลีวูด บิล แพกซตัน เสียชีวิตเนื่องจากอัมพาตหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

บิล แพกซตัน ผู้ไล่ล่าพายุใน twister, ผู้ล่าสมบัติใน Titanic ในวัย 61 ปี เสียชีวิตหลังจากเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก และ หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าโป่งพอง ที่ศูนย์การแพทย์ซีดาร์ไซนาย อเมริกา โดยเกิดอัมพาตหลังจากผ่าตัด และเขาเสียชีวิตลงในวันที่ 25 หลังการผ่าตัด โดยผลการพิสูจน์ในข่าวทุกสำนักเขียนว่า ...surgical complication.. คือผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัด

แต่เนื่องจากพวกเราเป็นชาวอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว ครั้นจะอ่านข่าวแบบนี้ผ่านไปก็กระไรอยู่ เราลองมาดูว่า เอ๊ะ..เกิดจากอะไร บ่อยไหม แล้วถ้าไม่ผ่าตัด ใช้แบบสายสวนแทนจะดีกว่าไหม ผมก็ไปรีวิวมา คัดมา สามวารสารที่คิดว่าข้อมูลครบถ้วน ใหม่ล่าสุด เอามาสรุปให้ฟัง พร้อมลิงค์วารสารตัวเต็มนะครับ

การเกิดอัมพาตหลังจากการเปลี่ยนลิ้นหัวใจถือเป็นผลแทรกซ้อนที่น่ากลัวยิ่งครับ คิดดูว่าเปลี่ยนลิ้นสำเร็จ ไม่เหนื่อย ไม่เจ็บอก แต่เป็นอัมพาต ก็คงจะไม่ดีครับ ผลการศึกษาออกมาว่าอัตราการเกิดอัมพาตหลังผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 1.5-2% ในสามสิบวันแรก ยิ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เช่นโรคร่วมมาก ลิ้นยากๆ ก็ยิ่งเสี่ยงเพิ่ม
แต่อันนี้คืออัมพาตที่ส่งผลเสียหายชัดๆนะครับ ถ้านับรวมเอาหลอดเลือดแดงตีบ ที่ไม่แสดงอาการชัดๆ ก็จะพบสูงกว่านี้มาก (การศึกษาเขาเอาไปทำ MRI หลังผ่าตัดลิ้นหัวใจ) ประมาณ 38-47% แต่ว่าจะมีอาการเป็นอัมพาตชัดๆแค่ 0-13% เท่านั้น

คุณแพกซตัน ก็ต้องถือว่าเสี่ยงสูง เพราะอายุมาก (จริงๆการศึกษาจะเก็บข้อมูลจากคนอายุ 65 ปีขึ้นไปนะครับ) ผมไม่ทราบตัวโรคชัดๆ แต่ถ้ามีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองและต้องซ่อมแซมด้วย ก็ถือว่าต้องทำหลายอย่างครับ เสี่ยงมากทีเดียว

อัมพาตเกิดจากหลายกลไก ไม่มีการพิสูจน์ชัดนัก เชื่อว่าเวลาที่เราไปยุ่งวุ่นวายกับลิ้นหัวใจเอออร์ติก ซึ่งมันเป็นลิ้นสุดท้ายที่จะออกไปสู่ร่างกาย โอกาสที่ตะกรัน ตะกอนทั้งหลายจะหลุดไปอุดก็มีสูง หรือเกิดจากเวลาผ่าตัดที่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม อาจมีปัญหาเรื่องเลือดไปสมองไม่ดีนัก และส่วนมากก็มักจะเกิดอัมพาตในช่วงสองสามวันหลังผ่าตัดครับ

คราวนี้การรักษาแบบเปลี่ยนลิ้นผ่านสายสวน TAVR ไม่ต้องผ่าตัด เหมาะกับกลุ่มที่อายุมาก มีความเสี่ยงสูงการผ่าตัดจะไม่ปลอดภัย เลือกใช้วิธีนี้ได้ และปัจจุบันก็ทำมากขึ้นในกลุ่มที่ไม่เสี่ยงมากนัก ผลการศึกษาสูสีกับกลุ่มไปเปิดอกผ่าตัด ยิ่งเทคโนโลยี การเห็นภาพลิ้น ที่เกาะของลิ้นหัวใจแบบสามมิติดีขึ้น อนาคตเราน่าจะได้เห็นเพิ่มเติมกว่านี้ เสี่ยงน้อยลงไปเรื่อยๆ
การเปลี่ยนลิ้นผ่านสายสวน(ลิ้นตีบ) ก็จะมีข้อดีกว่าคือ เลือดออกน้อยกว่า โอกาสไตวายน้อยกว่า เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็ว

ส่วนโอกาสการเกิดอัมพาต ในช่วงแรกๆหลังใส่สายเปลี่ยนลิ้นนั้นโอกาสอัมพาตจะสูงกว่าการผ่าตัด (2-4%) แต่นี่คือกลุ่มที่เสี่ยงสูงนะครับ ในกลุ่มที่เสี่ยงปานกลางหรือต่ำ พบว่าโอกาสการเกิดอัมพาตไม่แตกต่างจากการผ่าตัด และถ้าไปถ่ายภาพ MRI ก็จะพบหลอดเลือดตีบแบบไม่มีอาการมากกว่านี้เช่นกัน
และเมื่อติดตามไประยะยาวเกินหนึ่งปีก็จะพบว่าโอกาสเกิดอัมพาตจะใกล้เคียงกันกับการผ่าตัดครับ
แต่การใส่สายสวนเปลี่ยนลิ้นน่าจะใช้ค่าใช้จ่ายราวเกือบๆสองล้านบาท ในขณะที่การผ่าตัดถูกกว่าหลายเท่าในหลักแสนเท่านั้น และการใส่สายสวนยังเป็นของใหม่ๆ อาจต้องอาศัยเวลาและการเก็บข้อมูลอีกสักระยะ

ผมเองเคยเขียนบทความเรื่องนี้ไปสักพักแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม พอมาพบข่าวนี้ก็คิดว่า บางครั้งเรื่องราวต่างๆก็สามารถหยิบมาเป็นประเด็นให้เรียนรู้ได้ไม่รู้จักจบสิ้น ถ้าเราคิดจะเรียน คิดจะตั้งคำถามและหาคำตอบ

"จินตนาการ สำคัญ เท่าความรู้" แอดมินฯ กล่าวไว้

systematic review, TVAR and SAVR in severe AS low to intermediate risk, BMJ 2016; 354
http://www.bmj.com/content/354/bmj.i5130

comprehensive review, stroke after Surgical AVR or TVAR, Interact CardioVasc Thorac Surg (2016) 23 (3): 469-476.
https://academic.oup.com/…/Incidence-and-causes-of-silent-a…

stroke after AVR,editorial ,Circulation. 2014;129:
http://circ.ahajournals.org/content/129/22/2245

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม